แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่ ก. ผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีอยู่ จำเลยกำลังนั่งฟังอยู่ข้างนอก ได้พูดกับผู้อื่นว่า ” ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คนๆ นี้” รูปการณ์เช่นนี้บ่งชัดว่าหมายถึงสำนวนเรื่องนั้นตกแก่ ก. ซึ่งกำลังนั่งพิจารณาอยู่นั้น และศาลจะต้องพิจารณาพฤติการณ์ตามที่โจทก์นำสืบประกอบคำกล่าวของจำเลยต่อไป จึงจะชี้ชัดถึงเจตนาของจำเลยได้ (แม้คำฟ้องจะมิได้บรรยายถึงพฤติการณ์ต่างๆเหล่านั้นก็ตาม) เมื่อเห็นเจตนาว่า ที่จำเลยกล่าวข้อความนั้นเพราะไม่พอใจที่เห็นสำนวนความเรื่องนั้นตกแก่ ก. ผู้ซึ่งจำเลยเห็นว่าเป็นผู้พิพากษาที่พิจารณาความด้วยอคติไม่ให้ความยุติธรรม จึงได้กล่าวตำหนิ ก. เป็นนัยเช่นนั้น อันมีความหมายไปในทางไม่ดี เป็นที่ระคายเคืองแก่ศักดิ์ศรีของ ก. การกระทำของจำเลยก็เป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีตามมาตรา 198 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยทำโทรเลขและหนังสือกล่าวโทษ ก. ผู้พิพากษาไปยังอธิบดีฯภาค อันเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท (ผิดตามมาตรา 326) นั้น ต้องถือว่าเป็นการดูหมิ่น ก. ผู้พิพากษาไปในขณะเดียวกันด้วยว่า พิจารณาคดีไม่เที่ยงธรรม แม้จะมิได้ทำในขณะที่ ก. ทำการพิจารณาคดีอยู่ก็ดีก็นับได้ว่าได้หมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ต้องตามมาตรา 198ด้วย เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 198 แล้ว ก็ไม่เป็นผิดตามมาตรา 136 อีก เพราะกฎหมายบัญญัติแยกความผิดฐานดูหมิ่นผู้พิพากษากับดูหมิ่นเจ้าพนักงานอื่นทั่วๆ ไปไว้ต่างหากจากกัน จึงต้องปรับบทแยกกัน (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2506เฉพาะข้อกฎหมายข้างต้นนี้)
การที่จำเลยกล่าวโทษ ก. ไปนั้น ถือว่าเป็นกรรมเดียวเป็นผิดต่อกฎหมายหลายบทโทษตามมาตรา 198 หนักกว่ามาตรา 326 จึงลงโทษตามมาตรา 198 เพียงบทเดียว
การยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งในระหว่างพิจารณาเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์เมื่อมีคำพิพากษาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องยื่นภายหลังทราบคำสั่งแล้วเพียงใดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ศาลสั่งไม่อนุญาตโจทก์ก็ยังไม่ยื่นคำแถลงโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งแล้ว โจทก์ยังยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นเดียวกับฉบับแรกอีกแล้วจึงยื่นคำแถลงโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งศาลตามคำร้องฉบับแรก ดังนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะทำได้ ศาลอุทธรณ์จึงรับวินิจฉัยคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องได้
แม้เมื่อได้สืบพยานโจทก์ไปมากแล้ว ก็ยังไม่พ้นเวลาที่โจทก์จะขอเพิ่มฟ้อง การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมความในฟ้องว่า “ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวแล้ว”และเพิ่มมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญาลงในคำขอท้ายฟ้อง โดยอ้างว่าเป็นรายละเอียดที่ยังบกพร่องไม่ครบถ้วนเนื่องจากผู้พิมพ์ฟ้องพิมพ์ตกไป ดังนี้ เป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดและอ้างบทขอให้ลงโทษตามฐานความผิดที่ได้บรรยายไว้ในฟ้องมาแต่ต้นแล้วไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้คดี ชอบที่จะอนุญาตให้เพิ่มเติมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กล่าววาจาดูหมิ่นนายกิจจา นาญกิจผู้พิพากษาในขณะนั่งพิจารณาคดีอาญาระหว่างอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 7 โจทก์ นางคำป้อ ปัณฑิตะ จำเลย ว่า “ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะตกแก่คน ๆนี้” โดยจำเลยเจตนาดูหมิ่นนายกิจจาว่าไม่ให้ความยุติธรรมในการพิจารณาคดีนั้น และจำเลยทั้งสามได้ดูหมิ่นและใส่ความนายกิจจาซึ่งทำหน้าที่ตุลาการศาลมณฑลทหารบกที่ 7 และเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ด้วย โดยร่วมกันทำหนังสือและโทรเลขถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 กล่าวโทษนายกิจจาว่าดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่กล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอคติลำเอียงเข้าข้างโจทก์ ด่าว่าจำเลยที่ 2, 3 ฯลฯขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนความผิด แล้วพิจารณาโทษ ฯลฯ ดังข้อความตามสำเนาท้ายฟ้อง เป็นการเจตนาใส่ความให้เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง กับเจตนาให้ผู้บังคับบัญชาและคนทั่วไปรังเกียจเหยียดหยาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136, 198, 83
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2, 3 รับสารภาพเมื่อโจทก์สืบพยานไปหลายปากแล้ว
หลังจากจำเลยที่ 2, 3 รับสารภาพแล้ว และยังจะสืบพยานโจทก์ต่อไปอีกโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 14 มกราคม 2504 ขอเพิ่มเติมความในฟ้องว่า “ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวแล้ว” และเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงในคำขอท้ายฟ้องโดยอ้างว่าเป็นรายละเอียด เนื่องจากผู้พิมพ์ฟ้องพิมพ์ตกไปศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ครั้นสืบพยานโจทก์หมดแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 ขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นเดียวกับที่ขอแล้วศาลไม่อนุญาตนั้นอีก และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2504 โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องฉบับแรกนั้น เพื่ออุทธรณ์ฎีกาต่อไป ส่วนคำร้องฉบับหลัง ต่อมาศาลก็สั่งไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 พูดว่า “ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คน ๆ นี้” เป็นการดูหมิ่นนายกิจจาซึ่งทำหน้าที่เป็นตุลาการ คือศาลและจำเลยที่ 1 ได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 2, 3 ทำโทรเลขและหนังสือกล่าวโทษนายกิจจาไปยังอธิบดีฯ เป็นการใส่ความนายกิจจาให้เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง และอาจทำให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจผิด จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรานี้ แต่ก็ได้บรรยายฟ้องเป็นเรื่องใส่ความหมิ่นประมาทและนำสืบได้สมศาลลงโทษตามฐานที่ถูกต้องได้ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดมาตรา 198 กับ 326, 83 รวมกระทงลงโทษ จำคุก 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2, 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 326, 83 กระทงเดียว จำคุกคนละ 2 เดือน ลดกึ่งเหลือคนละ 1 เดือน
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 พูดว่า “ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะตกแก่คน ๆ นี้” ไม่เป็นการดูหมิ่นตามมาตรา 198 เพราะเป็นถ้อยคำแสดงความนึกคิดและความคิดเห็นตามธรรมดา คำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมฟ้องนั้น โจทก์แถลงคัดค้านไว้แล้ว จึงอุทธรณ์ได้ และพิเคราะห์เห็นสมควร จึงอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ และเมื่ออนุญาตแล้ว อุทธรณ์ที่ว่าจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ มาลงโทษจำเลยตามมาตรา 326 ไม่ได้และที่ว่าฟ้องไม่ได้บรรยายเรื่องร้องทุกข์และไม่มีคำขอมาตรา 326 ควรยกฟ้องเสียนั้นย่อมตกไป ส่วนการที่จำเลยร่วมกันทำโทรเลขและหนังสือกล่าวโทษนั้นเป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียงเป็นความผิดตามมาตรา 326 และไม่เป็นการดูหมิ่นตามมาตรา 136, 198 พิพากษาแก้เฉพาะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 326 กระทงเดียวให้จำคุก 2 เดือน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 พูดกับนายถวิลเสมียนหน้าบัลลังก์กับนายประเสริฐอัยการว่า “ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะตกแก่คน ๆ นี้” จำเลยกล่าวในขณะนั่งฟังนายกิจจาพิจารณาคดีอยู่ข้างนอกห้องพิจารณานั่นเอง บ่งชัดว่าหมายถึงสำนวนเรื่องนั้นตกแก่นายกิจจาลำพังแต่ถ้อยคำที่กล่าวนั้นอาจเป็นได้ทั้งในทางดีและไม่ดีแก่นายกิจจา และจะว่าอยู่ในรูปของการแสดงความคิดเห็นตามธรรมดาก็อาจจะได้ จำต้องพิจารณาพฤติการณ์ประกอบคำกล่าวของจำเลยพฤติการณ์ดังว่านี้ ศาลฟังต้องกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 พูดกับนายถวิลแล้วนายถวิลได้ตอบว่า “คุณก็จดข้อซักถามให้นางคำป้อแล้วเมื่อศาลจะถามให้ก็ดีกว่านางคำป้อถามเอง เพราะเป็นผู้หญิง ไม่เข้าใจซักถาม” จำเลยที่ 1 ยังพูดกับนายถวิลว่า “ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่มีทาง” แล้วในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 2, 3 ทำโทรเลขและหนังสือกล่าวโทษนายกิจจาไปยังอธิบดีฯ ว่านั่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นด้วยอคติลำเอียง ซึ่งหาเป็นความจริงไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าเจตนาในการกล่าวเช่นนั้นว่าไม่พอใจที่เห็นสำนวนความเรื่องนั้นตกแก่นายกิจจา ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการที่พิจารณาความด้วยอคติ จึงได้กล่าวตำหนิเป็นนัยออกมาอันมีความหมายในทางไม่ดี เป็นที่ระคายเคืองแก่ศักดิ์ศรีของนายกิจจา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่าจำเลยที่ 1 ได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ต้องตามมาตรา 198 แล้ว
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำโทรเลขและหนังสือกล่าวโทษนายกิจจาไปยังอธิบดีฯ อันเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทนายกิจจานั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่า ต้องถือว่าเป็นการดูหมิ่นนายกิจจาผู้พิพากษาไปในขณะเดียวกันด้วยว่าพิจารณาคดีความไม่เที่ยงธรรมแม้พฤติการณ์ตอนนี้จะไม่ใช่ (กระทำ) ในขณะนายกิจจาทำการพิจารณาคดีอยู่ก็ดี ก็นับได้ว่าได้ดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีต้องตามมาตรา 198 ดังแบบอย่างฎีกาที่ 580/2505 เมื่อต้องด้วยมาตรา 198แล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 136 อีก เพราะกฎหมายบัญญัติแยกความผิดฐานดูหมิ่นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้ สำหรับผู้พิพากษาบทหนึ่ง (198) สำหรับเจ้าพนักงานอื่นทั่ว ๆ ไปอีกบทหนึ่ง (136)ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นอยู่บ้างแต่พฤติการณ์ตอนนี้เป็นกรรมเดียวเป็นผิดต่อกฎหมายหลายบท มาตรา 90 ให้ใช้บทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษเพียงบทเดียว จึงต้องลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งหนักกว่า
การยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งในระหว่างพิจารณาเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องยื่นภายหลังทราบคำสั่งแล้วเพียงใดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 296 ก็หาได้บัญญัติให้ต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้อย่างใดไม่ จึงไม่มีทางบังคับให้โจทก์ต้องยื่นคำแถลงโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งภายในกำหนดเวลาเท่าใดคำแถลงที่โจทก์ยื่นโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยนั้น ก็เป็นการโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องฉบับแรกซึ่งไม่มีอะไรห้ามมิให้ยื่นเช่นนั้นศาลอุทธรณ์จึงรับวินิจฉัยได้ และแม้จะสืบพยานโจทก์ไปมากแล้วก็ยังไม่พ้นเวลาที่จะขอเพิ่มเติมฟ้องได้ตามกฎหมาย ทั้งเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดและอ้างบทขอให้ลงโทษตามฐานความผิดที่ได้บรรยายไว้ในฟ้องมาแต่ต้นแล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้คดีที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ก็ชอบแล้ว
ในที่สุด พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสามนอกจากมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แล้ว ยังผิดตามมาตรา 198 ด้วยอีกบทหนึ่งแต่ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน ตามมาตรา 198 บทเดียว จำเลยที่ 2, 3 รับสารภาพ คงกำหนดโทษ จำเลย 2 คนนี้คนละ 1 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 1ผิดตามมาตรา 198 สำหรับพฤติการณ์ตอนแรกด้วย ให้วางโทษจำคุกในกระทงนี้อีก 58 วัน นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์