แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายและจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน เมื่อผู้ตาย ที่ดินส่วนของผู้ตายย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิจะยึดทรัพย์ส่วนของจำเลยมาชำระหนี้ตนได้ แต่ต้องไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงส่วนได้ของผู้อื่นผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย
เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นของบุคคลหลายคนรวมกันถูกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ร่วมกับจำเลยจะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลกันส่วนได้ของตนเสียภายในห้าปี
ย่อยาว
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินซึ่งมีชื่อนายกาบและจำเลยสามีภริยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เอามาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายกาบซึ่งตายไปแล้วและจำเลย ที่ดินรายนี้ครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นของนายกาบจึงเป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้อง เมื่อศาลขายทอดตลาดก็ขอให้กันเงินสุทธิ ๑ ใน ๔ ให้แก่ผู้ร้อง
จำเลยแถลงรับว่าเป็นความจริงดังคำร้อง
โจทก์คัดค้านว่า แม้ที่พิพาทจะมีชื่อนายกาบถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย นายกาบก็ตายมา ๒๐ ปีเศษแล้ว จำเลยครอบครองที่ดินมาผู้เดียวโดยสงบและเปิดเผย ถือฐานะเป็นเจ้าของมาเกินกว่า ๑ ปีและ ๑๐ ปี ขาดอายุความแล้ว และศาลก็ขายทอดตลาดที่ดินนี้ไปแล้ว ที่นี่จึงเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้อง โดยเหตุว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขำกันส่วนในเวลาอันควร
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ของบุคคลภายนอกผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอกันเงินที่ขายทอดตลาดนั้นได้ ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ในประเด็นข้ออื่นตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายกาบตาย ที่ดินส่วนของนายกาบย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่รายพิพาทร่วมกับจำเลยและทายาทอื่นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิจะยึดทรัพย์ส่วนของจำเลยมาชำระหนี้ตนได้ แต่ก็ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงส่วนได้ของผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๒๓ บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเรียกเอาเงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเสียภายในห้าปี แต่คดีนี้เงินจ่ายมาตกอยู่ที่ศาลยังไม่ถึงห้าปี ผู้ร้องที่มีส่วนได้ย่อมมีสิทธิที่จะขอรับส่วนของตนได้ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีส่วนได้อยู่ในเงินค้างจ่ายเท่าใด พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยส่วนได้ของผู้ร้องแล้วส่งใหม่