คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6328/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินที่ผู้ร้องขอเฉลี่ยเป็นเงินที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลโดยจำเลยยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบหรือหักเงินเดือนของจำเลยทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาทชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ หลังจาก ศาลพิพากษาตามยอม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหนังสือแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหักเงินเดือนของจำเลยส่งมา ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งไปยังศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์รายนี้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล โดยจำเลยยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบหรือหักเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 5,000 บาทชำระให้แก่โจทก์ จนกว่าจะครบหนี้ ศาลจึงมีหนังสือแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบแล้ว ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเงินเดือนของจำเลยมายังศาลเดือนละ 5,000 บาทผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินดังกล่าวอ้างว่าไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์เพราะเป็นกรณีที่จำเลยได้นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ มิใช่กรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้แทนโจทก์ และจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถบังคับชำระหนี้ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยไว้แทนโจทก์ตามหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องสามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้หรือไม่มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์รายนี้หรือไม่ เห็นว่า เงินที่ผู้ร้องร้องขอเฉลี่ยเป็นเงินที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล โดยจำเลยยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบหรือหักเงินเดือนของจำเลยทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบหลังจากศาลพิพากษาตามยอม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหนังสือแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหักเงินเดือนของจำเลยส่งมาดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งไปยังศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมิใช่เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์รายนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share