คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ และการที่จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่นั้นมาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกัน แล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยในสองฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงต้องลงโทษจำเลยฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต กับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดคนละกรรมกัน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, 37 ตรี พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4, 11, 25, 38, 49, 50 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 มาตรา 4, 25, 30, 70 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 มาตรา 49 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2481 มาตรา 4, 7, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2498 (ที่ถูก พ.ศ.2489) มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง โดยเครื่องวิทยุคมนาคมขอริบไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหารับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และรับสารภาพข้อหาอื่นตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ, 37 ตรี (ที่ถูก 37 ตรี วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 11, 25 วรรคสาม, 38, 49 (ที่ถูก 11 วรรคหนึ่ง, 25 วรรคหนึ่ง, 38, 49 วรรคสอง) พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง, 70 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 11 วรรคหนึ่ง, 23 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2481 มาตรา 7, 9 วรรคหนึ่ง, 282 (ที่ถูก พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 282 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2481 มาตรา 7, 9 วรรคหนึ่ง) การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากร จำคุก 2 ปี ฐานขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศในทะเลเขตต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานมีน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด (ที่ถูก ฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย) จำคุก 2 ปี ฐานมีเครื่องวัดปริมาตรน้ำมัน โดยไม่มีตราเครื่องหมายคำรับรองของเจ้าพนักงาน จำคุก 1 เดือน ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน ฐานเป็นผู้ควบคุมเรือ โดยไม่มีประกาศนียบัตร จำคุก 2 เดือน ฐานใช้เรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี 24 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง โดยเครื่องวิทยุคมนาคมริบไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โดยให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบของราคาของกลางหรือค่าปรับและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า ความเห็นของพนักงานคุมประพฤติเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ว่ากระทำเป็นขบวนการไม่อาจรับฟังเป็นโทษต่อจำเลยก็ดี จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นเรือที่ไม่มีการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมายและใช้ลักลอบจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงก็ดี และมีการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตน่านน้ำสากลหรือประเทศมาเลเซียก็ดี เห็นว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยแถลงไม่ค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วยปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2547 ประกอบกับคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะมาโต้แย้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติในชั้นฎีกาหรือจำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามคำฟ้อง นอกจากเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะไม่เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ยังเป็นการประกอบการค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่สุจริตอันก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจของชาติ ทั้งการลักลอบขนถ่ายสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลอีกด้วย การกระทำของจำเลยนับได้ว่าเป็นอันตรายต่อสาธารณชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ และการที่จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่นั้นมาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกัน แล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยในสองฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงต้องลงโทษจำเลยฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดคนละกรรมกัน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 และสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดทั้งสองฐานนี้มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว ส่วนกำหนดโทษซึ่งลดโทษให้แล้วคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวมกับโทษฐานอื่นที่ไม่ได้มีการแก้ไขแล้ว จำคุก 2 ปี 9 เดือน และปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share