คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ก็คงมีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่นๆ และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีโดยชอบและไม่กระทบถึงสิทธิอื่นๆ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 2,391,396.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 2,154,876.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 102129 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดและอยู่ระหว่างดำเนินการบังคับคดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ดังกล่าวจากการซื้อ แต่ผู้โอนได้แจ้งชื่อผู้รับโอนสลับชื่อกันเนื่องจากเป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง ผู้ร้องและจำเลยจึงได้ร่วมกันเป็นโจทก์กับผู้รับโอนรายอื่นอีกรวมสิบสามคน ฟ้องผู้โอนให้แก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1815/2547 หมายเลขแดงที่ 2172/2547 ซึ่งศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ว่า โจทก์ทั้งสิบสามและจำเลยทั้งสามยอมรับว่านิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจำนวน 16 แปลง เป็นการจดทะเบียนผิดแปลงตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามและจำเลยทั้งสามตกลงจะไปดำเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนในที่ดินดังกล่าวให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หากฝ่ายใดไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ที่ดินในคดีดังกล่าวทั้งหมดมีการนำไปดำเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นเกือบทั้งหมดแล้ว คงมีเหตุขัดข้องเฉพาะในส่วนของผู้ร้องเพราะโจทก์ในคดีนี้ไม่ถอนการยึดและส่งมอบโฉนดที่ดินที่ยึดให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นเพื่อนำไปแก้ไขรายการจดทะเบียนใหม่ให้เป็นของผู้ร้อง ส่วนจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 11 ในคดีดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งตามโฉนดที่ดินเลขที่ 102130 ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยจำนองเป็นประกันไว้กับโจทก์ ในคดีนี้ที่แท้จริงผู้ร้องจึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้โดยผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ที่ 12 ในคดีดังกล่าว ศาลได้มีคำพิพากษาให้แก้ไขเพิ่มเติมรายการจดทะเบียนในที่ดินโฉนดเลขที่ 102129 (ที่โจทก์ยึดไว้ในคดีนี้) ให้โอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ถือว่าเป็นสิทธิอื่นๆ ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับในทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 โจทก์ในคดีนี้จึงไม่มีสิทธิบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับยึดที่ดินพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นเพื่อแก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตเพื่อเป็นประกันการกู้เงินของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันได้ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงขอบังคับคดี คดีที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์และโจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนรู้เห็นกับคดีที่ผู้ร้องอ้าง การจดทะเบียนที่ดินแปลงพิพาทผิดแปลงไม่ใช่ความผิดของโจทก์โจทก์ชำระเงินค่าธรรมเนียมบังคับคดีเรียบร้อย หากให้มีการเพิกถอน โจทก์ต้องเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้จดทะเบียนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 102129 ตั้งอยู่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในขณะที่โจทก์จดทะเบียนรับจำนองไว้นั้น มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อมาได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2172/2547 ของศาลชั้นต้นว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทผิดแปลงให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนระหว่าง นายบุญส่ง พาณิชย์รุ่งเรือง กับนางเวหา กลึงวิจิตร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 กับรายการหลังจากนั้น และให้แก้ไขใหม่เป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 นายบุญส่งโอนขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง และศาลพิพากษาให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 102130 เป็นของจำเลย วันที่ 16 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างดำเนินการบังคับคดี คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2172/2547 ให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 102129 ให้แก่ผู้ร้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่โจทก์ในคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้ฟ้องบังคับจำนองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำนอง เพื่อนำออกขายทอดตลาดโดยไม่ปรากฏว่าขั้นตอนบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำนอง เพื่อนำออกขายทอดตลาดโดยไม่ปรากฏว่าขั้นตอนบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการใด ต่อมาภายหลังผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 ว่า ผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ขอให้เพิกถอนการยึดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ก็คงมีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่นๆ ตามมาตรา 287 ดังกล่าว และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียนจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง การบังคับคดีของโจทก์จึงไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด เมื่อโจทก์บังคับคดีโดยชอบและไม่กระทบถึงสิทธิอื่นๆ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share