คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่า ฟ้องต้องบรรยายไว้ด้วยว่า ได้มีการสอบสวนแล้ว เมื่อคดีปรากฎว่า ก่อนฟ้องได้มีการสอบสวนแล้วก็เป็นอันใช้ได้.
ฉ้อโกงทรัพย์ของการไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งขึ้นอยู่แก่กรมโยธาเทศบาล ( ครั้งนั้นยังเป็นกรมโยธาธิการ ) อธิบดีแห่งกรมดังกล่าวย่อมร้องทุกข์ได้
คำร้องทุกข์ของอธิบดีกรมโยธาธิการ ซึ่งมีข้อความว่า “……ได้ทราบจากเจ้าพนักงานสอบสวนว่า คดีนายเทื้อมกับพวก ซึ่งต้องหาว่า ทุจจริตต่อหน้าที่และปลอมหนังสือนั้น ได้มีข้อหาเพิ่มเติมอีกว่า ทำการฉ้อโกงทรัพย์ด้วย ฉัน ในฐานะเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการ จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ฉันขอมอบคดีฐานฉ้อโกงให้ตำรวจและอัยยการดำเนินคดีต่อไป. (ลงชื่อ ล.บูรกัมโกวิท) ” เป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยมาตรา 123 ป.ม.วิ.อาญาแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ปลอมหนังสือ และฉ้อโกง จำเลยปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑,๒ มีผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๔ จำคุกจำเลยคนละ ๑ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๓
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
๑. จำเลยอ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ได้มีการสอบสวนความผิดของจำเลย ไว้ก่อนแล้ว
เห็นว่า ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่า ฟ้องจะต้องบรรยายไว้ด้วยว่า ได้มีการสอบสวนแล้ว ทั้งคดีนี้ปรากฎว่าก่อนฟ้อง ได้มีการสอบสวนแล้ว
๒. จำเลยอ้างว่า ในคดีฉ้อโกง ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์
เห็นว่า คดีนี้จำเลยทำการฉ้อโกงทรัพย์ของการไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งขึ้นอยู่แก่กรมโยธาเทศบาล (ครั้งนั้นยังเป็นกรมโยธาธิการ) อธิบดีแห่งกรมดังกล่าว โดย พ.ต.ล้อม บูรณกรรมโกวิท ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ทำใบมอบคดีให้ฟ้องร้องในฐานนี้ มีข้อความว่า “๒๗ เมษายน ๒๔๘๗ ฉัน พันตรีล้อม บุรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาธิการ ได้ทราบจากเจ้าพนักงานสอบสวนว่า คดีนายเทื้อม กับพวก ซึ่งต้องหาว่า ทุจจริตต่อหน้าที่และปลอมหนังสือนั้น ได้มีข้อหาเพิ่มเติมอีกว่า ทำการฉ้อโกงทรัพย์อีกด้วย ฉัน ในฐานะเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการ จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ฉันขอมอบคดีฐานฉ้อโกงให้ตำรวจและอัยยการดำเนินคดีต่อไป (ลงชื่อ ล. บูรกัมโกวิท) ” ใบมอบคดีหรือคำร้องทุกข์นี้ มีข้อความตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถือว่า เป็นคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว.
พิพากษายืน.

Share