คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จโดยจำเลยมิได้อยู่ในศาล ก็มีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียวตามมาตรา 204 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่(1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะจำเลยมิได้มาศาลในวันสืบพยานฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน11,271,875.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 บาท ของต้นเงินจำนวน 10,623,109.23 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองไม่มาศาลในวันสืบพยาน ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 204 โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปากและแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน9,888,031.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,816,841.60 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2543 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กรกฎาคม 2543) ต้องไม่เกินจำนวน444,092.75 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 11.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน7,071,190.01 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 134878 และ 134879 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จในวันที่ 13 กันยายน 2543 ตามที่มีคำสั่งนัดไว้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเพื่อให้จำเลยที่ 1 สืบพยานตามที่ได้ยื่นคำให้การไว้แล้วจึงจะพิพากษาตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นเอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 88 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การภายในกำหนด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 การพิจารณาโดยขาดนัดซึ่งบัญญัติใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15มีนาคม 2543 แก่คดีที่ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยที่ 1 ทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันดังกล่าวจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่ง และศาลชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 204 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จโดยจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในศาล ก็ย่อมที่จะมีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียวตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 204 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่(1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณา นำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะคดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้มาศาลในวันสืบพยาน ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 88 ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share