คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไปยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินของพี่ชาย ณ หอทะเบียน โจทก์ซึ่งเป็นน้องต่างบิดาคัดค้านภายหลังโจทก์จำเลยตกลงกัน โดยจำเลยยอมแบ่งที่บ้านให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่นาโจทก์ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การที่โจทก์ลงชื่อขอถอนคำคัดค้านโดยเจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้ว่าโจทก์ไม่ติดใจเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ยอมให้จำเลยรับมรดกไปได้ผู้เดียวนั้น บันทึกดังกล่าว แม้โจทก์จะทำกับเจ้าพนักงานผู้ไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบก็ตาม ก็ย่อมถือว่าเป็นหลักฐานของสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลบังคับได้อย่างหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ส่วนจำเลยกับนายเจือเป็นพี่ร่วมมารดากับโจทก์แต่ต่างบิดากัน เมื่อนางปุ้ยมารดาโจทก์จำเลยตาย มีที่ดินพิพาท ๒ แปลงเป็นมรดก โจทก์ยังเล็กอยู่ นายเจือจึงเป็นผู้จัดการมรดก และลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกแทนโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนจำเลยไปอยู่ที่อื่น ต่อมานายเจือตาย จำเลยไปขอรับมรดก โจทก์ไปยื่นคำร้องคัดค้าน จำเลยตกลงกับโจทก์ขอให้ถอนคำร้องไปก่อน จำเลยจะรังวัดแบ่งแยกที่นาโฉนดที่ ๘๕๔๘ ให้ภายหลัง โจทก์หลงเชื่อจึงได้ถอนคำร้อง แต่จำเลยก็หาได้แบ่งที่ดินให้โจทก์ไม่ ขอให้ศาลพิพากษาทำลายนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและให้แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใหม่ที่บ้านให้โจทก์ที่ ๑ กับจำเลยคนละครึ่ง คำขอนอกจากนั้นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาว่า บันทึกขอถอนคำคัดค้านที่นาโฉนดที่ ๘๕๔๘ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ขอถอสนคำคัดค้านของตนเสียตามบันทึกของเจ้าพนักงานที่ดินในการไกล่เกลี่ยเปีรยบเทียบระหว่างโจทก์จเลยเกี่ยวกับสที่ดินรายนี้ว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ประสงค์จะรับมรดกที่รายนี้แล้ว ขอให้โอนมรดกให้กับจำเลยผู้ขอไปได้ และให้เจ้าพนักงานที่ดินยกคำขอคัดค้านนี้เสียได้ นั้น บันทึกของเจ้าพนักงานเช่นนี้จะถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาบันทึกของการขอถอนคำร้องคัดค้านแล้ว เห็นว่าบันทึกนี้เป็นเรื่องระหว่งข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยตามคำไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบของเจ้าพนักงานที่ดิน และบันทึกระงับข้อพิพาทที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นมีหลักฐานเป็นหนังสือ เห็นว่า บันทึกนี้ถึงแม้โจทก์จะทำกับเจ้าพนกงานผู้ไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบดังโจทก์โต้เถียงมา แต่โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด คือ เป็นฝ่ายที่ยินยอมให้จำเลยรับมรดกที่นาพิพาทไปเป็นของจำเลยได้ผู้เดียว ก็ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ที่ ๑ ไว้เป็นสาระสำคัญในการบันทึกนั้น ในฐานะที่โจทก์ที่ ๑ จะต้องรับผิดเช่นนี้ ก็ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ที่ ๑
ถือได้ว่าหลักฐานของสัญญาประนีประนอมยอมความชอบด้วยกฎหมายแหพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐, ๘๕๒ แล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share