คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ 2479 แก้ไขโดย พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 5) 2490 มาตรา 3 แสดงว่า ในการประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรมนั้น มีการกระทำซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต่างกันและแยกกันหลายประการ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรม มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรม จึงไม่ชัดเจนพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้จะบรรยายว่าจับได้ยาต่าง ๆ หลายอย่างรวมทั้งเข็มและหลอดฉีดยา เลื่อยตัด ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าการกระทำผิดของจำเลยได้กระทำการอย่างไร จึงเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาผดุงครรภ์ชั้นสอง และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลแผนปัจจุบันสาขาผดุงครรภ์ชั้นสอง ได้บังอาจประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรมอันมิใช่ประกอบโรคศิลปะตามประเภทและสาขาที่ได้รับอนุญาตตามข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะและมรรยาทในวิชาชีพ เป็นการละเมิดต่อมาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยยาชนิดต่าง ๆ หลอดฉีดยาและเข็มฉีดยา ๑ ชุด เลื่อยตัดแก้ว ๑ อัน อันเป็นเครื่องมือที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ๒๔๗๙ มาตรา ๑๖, ๒๑ ริบของกลาง และนับโทษต่อ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ของกลางไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ในการกระทำผิดอย่างไร หรือมีไว้เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์สมบูรณ์ พิพากษากลับว่าจำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ๒๔๗๙ มาตรา ๑๖, ๒๑ ปรับ ๔๐๐ บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงปรับ ๒๐๐ บาท ของกลางริบ ไม่นับโทษต่อ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องซึ่งโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้บังอาจประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรมนั้น ในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ๒๔๗๙ แก้ไขโดย พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ระบุว่า การประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรม คือการบำบัดโรคด้วยยา ด้วยศัลยกรรม ด้วยแสงรัศมี ด้วยสูติกรรม หรือด้วยจิตตวิเคราะห์ แสดงว่า ในการประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรมนั้น มีการกระทำซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต่างกันและแยกกันหลายประการ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการประกอบโรคศิลปะสาขาเวชชกรรม ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้จะได้บรรยายว่าจับได้ยาต่าง ๆ หลายอย่าง รวมทั้งเข็มและหลอดฉีดยา เลื่อยตัด แล้ว ก็บรรยายแต่เพียงว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำผิดดังกล่าวแล้ว ไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า การกระทำผิดของจำเลยได้กระทำการอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๕๘ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น.

Share