แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าพื้นที่ที่ได้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทให้แก่ผู้ขอประทานบัตรเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง กับโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2479และปี 2480 และไม่ทราบว่าบริเวณเทือกเขาสมอคอนอันเป็นที่ตั้งของประทานบัตรของโจทก์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและโบราณวัตถุ จึงได้มีคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบร่วมกันไปตรวจหาข้อเท็จจริง และแม้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีจำเลยที่ 2 กรมศิลปากร ที่ 3 และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่ 4 เคยไปตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก่อนออกประทานบัตรแล้วแต่เมื่อฟังไม่ได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ผู้ออกประทานบัตรเหมืองแร่ พิพาททราบข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่กระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทของโจทก์ ซึ่งรับโอนประทานบัตรมาจากผู้ขอประทานบัตรโดยอ้างว่า ประทานบัตรของโจทก์อยู่ในบริเวณที่มีการประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และผู้ขอประทานบัตร เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่ คำขอประทานบัตรไม่ตรงต่อความจริงโดยรายงานว่าบริเวณที่ ทำเหมืองหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณวัตถุเป็นเหตุให้มีการออกประทานบัตรโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญจึงเป็นเหตุผลที่ถูกต้องและชอบด้วยข้อเท็จจริงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 สั่งเพิกถอน ประทานบัตรดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายที่กล่าวอ้างแล้ว แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนประทานบัตร ของจำเลยที่ 1 และแม้โจทก์จะไม่ทราบว่าบริเวณพื้นที่ ที่ได้รับประทานบัตรนั้นอยู่ในบริเวณซึ่งมีการประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 9 ทวิ วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ออกประทานบัตรที่ 14099/13400เนื้อที่ 274 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา และประทานบัตรที่ 14100/13399เนื้อที่ 207 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรี มีกำหนด 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2526ถึงวันที่ 29 เมษายน 2551 ชนิดแร่หินปูนเพื่อทำปูนขาวสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลด้วยความเห็นขอบของจำเลยที่ 4 และจังหวัดลพบุรีต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2526 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรี ได้โอนประทานบัตรที่ 10499/13400 ให้แก่ โจทก์ที่ 1 และโอนประทานบัตรที่ 14100/13399 ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้เปิดเหมืองเพื่อทำเหมืองได้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน2527 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นห้างในเครือเดียวกันได้ร่วมกันลงทุนทำการเปิดเหมือง สร้างโรงงานและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเงิน54,674,843 บาท นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองสำรวจพบแร่หินอ่อนและแร่ฟอสเฟตอยู่ในเขตประทานบัตรเป็นจำนวนมากจึงยื่นคำขอเพิ่มชนิดแร่ทั้งสองจนได้เพิ่มชนิดแร่หินอ่อน ส่วนแร่ฟอสเฟตอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ระหว่างดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงงานเพื่อเปิดเหมือง จังหวัดลพบุรีโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และจำเลยที่ 3โดยอธิบดีได้ร่วมปลุกปั่นราษฎรให้เดินขบวนคัดค้านการทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรทั้งสองแปลงซึ่งข้อคัดค้านดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ได้กล่าวอ้างขึ้นเพื่อให้มีการเพิกถอนประทานบัตรทั้งสองแปลงโจทก์ทั้งสองชี้แจงและแสดงหลักฐานต่าง ๆ แล้ว แต่จำเลยที่ 3และที่ 4 กลับแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่บนเทือกเขาสมอคอน ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วการออกประทานบัตรทั้งสองแปลงชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 3และที่ 4 กลับแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เคยให้ความเห็นว่าควรอนุญาตประทานบัตรทั้งสองแปลงนั้นเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าบริเวณใกล้เคียงเขตประทานบัตรจะมีโบราณสถาน แม้จะมิได้อยู่บนเทือกเขาสมอคอนและอยู่ห่างจากโบราณสถานก็ตาม หากทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวตั้งแต่แรกก็จะไม่เห็นชอบให้ออกประทานบัตรจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นสมควรอนุรักษ์เทือกเขาสมอคอนเป็นโบราณสถานแห่งชาติและเสนอแนะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการเพิกถอนประทานบัตรทั้งสองแปลง ต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนประทานบัตรทั้งสองแปลงโดยอ้างว่าออกให้โดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญความจริงแล้วการออกประทานบัตรทั้งสองแปลงมิได้ออกโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง การที่จำเลยที่ 1 เพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองตามข้อเสนอของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโดยโจทก์ทั้งสองได้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการเปิดเหมืองแร่เป็นเงิน 54,674,843 บาท โจทก์ทั้งสองขาดผลประโยชน์จากการผลิตแร่ตามประทานบัตรเป็นเงิน 3,315,400,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,370,074,843 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่เพิกถอนประทานบัตร โดยให้ประทานบัตรทั้งสองแปลงมีผลบังคับใช้ต่อไป หากกรณีไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1ดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน3,370,074,843 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีเป็นการออกให้โดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เพราะเชื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบคำขอประทานบัตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีได้รายงานเท็จในสาระสำคัญว่าในบริเวณที่ทำเหมืองแร่หรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุความจริงเขตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทั้งสองแปลงตั้งอยู่บนเทือกเขาสมอคอนซึ่งมีเขาใหญ่ และเขาทะเลเป็นส่วนหนึ่ง เทือกเขาสมอคอนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมีโบราณสถานสำคัญได้แก่วัดถ้ำตะโก วัดสมอคอน วัดถ้ำช้างเผือกวัดบันไดสามแสน มีถ้าและธรรมชาติที่สวยงามและมีสระทะเลขาดอันเป็นแหล่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติไว้แล้วตั้งแต่ปี 2479 และ 2480กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายอนุรักษ์เทือกเขาสมอคอนไว้ทั้งเทือกเขาจำเลยที่ 1 เพิ่งทราบข้อเท็จจริงจากรายงานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ภายหลังจากออกประทานบัตรแล้ว หากทราบตั้งแต่แรกก็จะไม่ออกให้การที่จำเลยที่ 1 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองทั้งสองแปลงจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายเทอดศักดิ์ สุนทรกำจรพานิช เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาล จำเลยที่ 2เป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3เป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 4เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรมสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรี ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทโดยเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นว่า ในบริเวณที่ทำเหมืองหรือบริเวณที่ใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณวัตถุจำเลยที่ 1 พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นดังกล่าวแล้วออกประทานบัตรที่ 14099/13400 เนื้อที่ 274 ไร่ 2 งาน8 ตารางวา และประทานบัตรที่ 14100/13399 เนื้อที่ 207 ไร่ 2 งาน4 ตารางวา ชนิดแร่หินปูนขาวสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีมีกำหนด 25 ปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2551 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีได้โอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่พิพาทโดยโอนประทานบัตรที่ 14099/13400 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ประทานบัตรที่ 14100/13399 ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1แล้วเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2526 โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้เปิดเหมืองเพื่อทำเหมืองได้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2527 และได้ขออนุญาตเพิ่มชนิดแร่หินอ่อนและแร่ฟอสเฟตในเขตประทานบัตรทั้งสองแปลงโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณา วันที่ 21 มิถุนายน 2534จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 284/2534 เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 14099/13400 และออกคำสั่งที่ 285/2534 เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 14100/13399 โดยอ้างเหตุว่าประทานบัตรทั้งสองแปลงอยู่ในบริเวณที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามคำยืนยันของกรมศิลปากร (จำเลยที่ 3) แต่ผู้ขอประทานบัตรเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่คำขอประทานบัตรไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยรายงานว่าบริเวณที่ทำเหมืองหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุเป็นเหตุให้มีการออกประทานบัตรโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ วันที่ 10 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 3 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถานเทือกเขาสมอคอนตามราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2535
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นประการแรกว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรี ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทโดยเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นต่อจำเลยที่ 1 ว่า ในบริเวณที่ทำเหมืองแร่พิพาทหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุเป็นการถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทตามมาตรา 9 ทวิแห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้นพิเคราะห์แล้ว ในปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่าเขาสมอคอนและเขาใหญ่เป็นคนละเทือกเขากัน เขตประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทอยู่ที่เขาใหญ่หรือเขาทะเลมิได้อยู่บริเวณเขาสมอคอนนั้นศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าเขาใหญ่และเขาสมอคอนเป็นเทือกเขาเดียวกัน มีชื่อเรียกว่าเทือกเขาสมอคอน ที่โจทก์ฎีกาว่า พื้นที่ประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองตั้งอยู่ที่บริเวณเขาใหญ่มิใช่เขาสมอคอนนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่าเขตประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า วัดบันไดสามแสนวัดถ้ำตะโก และวัดถ้ำช้างเผือกได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติในปี พ.ศ. 2479 และวัดสมอคอนได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติในปี พ.ศ. 2480 และศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เขตประทานบัตรอยู่ห่างจากวัดถ้ำช้างเผือกไม่เกิน 300 เมตร จึงนับว่าเป็นระยะทางไม่ไกลนัก แม้เขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อยู่ในบริเวณที่อนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถานในขณะที่มีคำสั่งของจำเลยที่ 1 เพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองก็ตาม แต่เขตพื้นที่ประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองก็อยู่ใกล้เคียงกับวัดถ้ำช้างเผือกอันเป็นโบราณสถานที่จำเลยที่ 3 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 จึงไม่ถือว่าแตกต่างไปจากเหตุผลในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้เพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองซึ่งระบุว่าประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามที่ระบุในคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองด้วยหรือไม่ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าเทือกเขาสมอคอนเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติซึ่งกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีโบราณสถานไว้ซึ่งในบัญชีดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าตัวเทือกเขาสมอคอนและโบราณสถานหรือโบราณวัตถุหรือศิลปะวัตถุ บนเทือกเขาสมอคอนเป็นสิ่งสำคัญที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และตามพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์(แช่ม บุนนาค) เอกสารหมาย ล.27 ก็มีเนื้อความตรงตามที่นายสดพยานจำเลยทั้งสี่เบิกความ แม้เรื่องราวในพงศาวดารโยนกและหลักฐานตามที่กรมศิลปากรจำเลยที่ 3 อ้างในเอกสารหมาย ล.17 จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงได้ซึ่งต่อมากรมศิลปากรจำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2531 ถึงอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีแจ้งว่าคณะกรรมการควบคุมการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุ และการใช้ที่ดินเขตโบราณสถานได้มีมติมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนเทือกเขาสมอคอนให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติด้วยเหตุผลเพื่อการอนุรักษ์และสงวนรักษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้ตามเอกสารหมาย ล.19 ต่อมาอธิบดีกรมศิลปากรได้ออกประกาศกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถานเทือกเขาสมอคอนตำบลสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ดังนี้ จึงรับฟังได้ว่าบริเวณเทือกเขาสมอคอนอันเป็นที่ตั้งของประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทของโจทก์ทั้งสองเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และโบราณวัตถุดังที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและใกล้กับโบราณสถานที่มีความสำคัญ ซึ่งต่อมากรมศิลปากรจำเลยที่ 3 ก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเทือกเขาสมอคอนทั้งหมดเป็นเขตโบราณสถาน ที่จำเลยที่ 1อ้างเป็นเหตุผลในคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปมีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีผู้ขอประทานบัตรเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่คำขอประทานบัตรตรงตามความเป็นจริงหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วรับฟังได้ว่าบริเวณที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสองแห่งเป็นบริเวณของเทือกเขาสมอคอนอยู่ห่างจากวัดถ้ำช้างเผือกไม่เกิน 300 เมตร และเทือกเขาสมอคอนเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีผู้ขอประทานบัตรระบุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการทำเหมืองแร่บนบกและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจากการทำเหมืองแร่บนบกว่าในบริเวณที่ทำเหมืองหรือบริเวณที่ใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ การทำเหมืองไม่มีผลกระทบถึงโบราณสถานหรือโบราณวัตถุจึงไม่ตรงต่อความจริง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นประการสุดท้ายว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ผู้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองฉบับสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเป็นเหตุให้มีการออกประทานบัตรทั้งสองฉบับให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ออกประทานบัตรทั้งสองฉบับให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2526 และต่อมาได้มีการโอนประทานบัตรทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองในวันที่ 29 กรกฎาคม2526 แล้ว ได้มีการคัดค้านการออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงตลอดมา โดยเริ่มจากชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ 2 กันยายน 2526ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีคัดค้านการออกประทานบัตรบริเวณเทือกเขาสมอคอนอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่ได้มีการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีวัดในพระพุทธศาสนาจำนวน 4 วัด และมีความงดงามตามธรรมชาติ มีถ้ำสวยงามหลายแห่งและต่อมาจังหวัดลพบุรีโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2526 แจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1ว่ามีชาวบ้านเดือดร้อนจากการระเบิดหินและชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรีได้คัดค้านขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาทบทวนการอนุญาตประทานบัตรเพื่อเพิกถอนประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองซึ่งต่อมากรมศิลปากร จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 แจ้งจังหวัดลพบุรีว่าเขาสมอคอนได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติไว้แล้วทั้งเทือกเขาและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้อนุรักษ์ไว้ทั้งเทือกเขารวมทั้งแจ้งถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเทือกเขาสมอคอนไปให้ทราบด้วยและกระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2526 แจ้งให้ผู้ว่าการจังหวัดลพบุรีทราบว่าได้ให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันตรวจหาข้อเท็จจริงบริเวณพื้นที่ประทานบัตรทั้งสองแปลง แล้วบริเวณพื้นที่ประทานบัตรทั้งสองแปลงอยู่ที่เขาทะเลห่างไกลจากบริเวณโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ ดังนี้ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าพื้นที่ที่ได้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองสิงห์บุรีนั้น เป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2479 และปี 2480 และไม่ทราบว่าบริเวณเทือกเขาสมอคอนอันเป็นที่ตั้งของประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และโบราณวัตถุ จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบร่วมกันไปตรวจหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์จะนำสืบว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เคยไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกประทานบัตรแล้ว ก็ยังฟังไม่ได้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ผู้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสอง โดยอ้างว่าประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และผู้ขอประทานบัตรเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่คำขอประทานบัตรไม่ตรงต่อความจริง โดยรายงานว่าบริเวณที่ทำเหมืองหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุเป็นเหตุให้มีการออกประทานบัตรโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ จึงเป็นเหตุผลที่ถูกต้องและชอบด้วยข้อเท็จจริง การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 สั่งเพิกถอนประทานบัตรดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายที่กล่าวอ้างแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 สั่งเพิกถอนประทานบัตรดังกล่าวโดยชอบแม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนประทานบัตรของจำเลยที่ 1 และแม้จะฟังว่า แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองไม่ทราบว่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรนั้นอยู่ในบริเวณซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 9 ทวิ วรรคสอง
พิพากษายืน