คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องทุกข์ของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) ฉะนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยเจตนาทุจริตหลอกลวงให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก็ดี ก็ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๔ จำเลยบังอาจปักหลักกั้นรั้วบุกรุกที่ดินของนายอัมพรเพื่อถือการครอบครองที่ดินต่อมาวันที่ ๓๐ เดือนเดียวกัน นายอัมพรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ครั้นต่อมา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๐๔ จำเลยหลอกลวงนายอัมพรด้วยการแสดงข้อความเท็จว่า จำเลยจะยกที่ดินของจำเลยแลกเปลี่ยนกับที่จำเลยบุกรุกกั้นรั้ว นายอัมพรหลงเชื่อได้ไปถอนคำร้องทุกข์เสีย ทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาทุจริตหลอกลวงให้นายอัมพรถอนคำร้องทุกข์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ ทำให้นายอัมพรหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ความจริงจำเลยมิได้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่อ้างจะนำมาแลกเปลี่ยน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า การถอนคำร้องทุกข์อันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่อาจดำเนินคดีอาญาต่อไปได้ เพราะเหตุที่จำเลยหลอกลวงนั้น ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ เอกสารสิทธิมีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑(๙) มิได้หมายถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาคำฟ้องโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า คำร้องทุกข์ของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๒๓ เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ คำว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๙) หมายความว่า “เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ” ดังนี้ ย่อมเห็นความมุ่งหมายของเอกสารสิทธิได้ว่าจะต้องเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ และเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือเลิกล้างสิทธิทุกอย่าง ส่วนคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๒๓ นั้น ผู้เสียหายจะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ มีข้อสำคัญว่าต้องปรากฎชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ ลงวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปากก็ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ และผู้บันทึกต้องลงลายมือชื่อในบันทึกด้วย คำร้องทุกข์จึงเป็นแต่เพียงคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ดดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น หาเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิดังกล่าวแล้วไม่
จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑(๙) เมื่อคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามกฎหมายแล้ว แม้ตามข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เสียก็ดี ก็ย่อมลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ไม่ได้ ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกาว่าเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์ก็มีเจตนามุ่งหมายที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในทางแพ่งด้วยนั้น พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจดำเนินคดีในทางแพ่งให้แก่ผู้เสียหาย คำร้องทุกข์จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share