คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเป็นของส. เมื่อส.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่ช. มารดาของผู้ร้องต่อมาช.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองมาโดยตลอดผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแม้ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าจำเลยมีสิทธิเช่นนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1373เมื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทข้อสันนิษฐานตามมาตราดังกล่าวย่อมตกไปการที่จำเลยซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่โจทก์แม้โจทก์จะรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามก็หามีผลให้โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาทในฐานะผู้รับจำนองไม่เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา705จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยตกลงยอมชำระหนี้ 1,461,769.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยจำเลยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 มกราคม 2534 หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยยอมให้โจทก์ยึดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3)สารบบเลขที่ 8 เล่ม 4 หน้า 2 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งขวางอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และจำเลยยอมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความ 10,000 บาทแก่โจทก์ภายในวันที่ 28 มกราคม 2534 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 8 เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน65 ตารางวา ราคาประมาณ 880,000 บาท เป็นของผู้ร้องที่ได้รับมรดกจากนางแช่ม วงศ์ภักดี มิใช่ทรัพย์ของจำเลย จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาท ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2511นับแต่นางแช่มถึงแก่กรรมตลอดมา ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ตามเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทไม่มีชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่มีชื่อจำเลย ที่ผู้ร้องอ้างว่าหลวงสิทธิเทพการถึงแก่กรรมญาติ ๆ ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินพิพาทให้นางแช่มนั้น การยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์สารบบเลขที่ 8 เล่ม 4 หน้า 2 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งขวางอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม คืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความเป็นยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)เลขที่ 8 มีชื่อนายวิศิษฎ์ วังตาล เป็นเจ้าของตามเอกสารหมาย ร.6ต่อมาปี 2503 หลังจากหลวงสิทธิเทพการถึงแก่กรรมแล้วที่ดินพิพาทได้ตกมาเป็นของนางแช่ม วงศ์ภักดี มารดาผู้ร้อง ปี 2511 นางแช่มถึงแก่กรรม หลังจากนั้นนายลำใย เรืองฤทธิ์ ได้ดำเนินการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จนทางการออกให้และนายลำใยได้จดทะเบียนการยกให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตร จำเลยนำใบจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารอื่นและในที่สุดนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ปรากฎรายละเอียดตามเอกสารหมาย ร.42 สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หรือไม่นั้นมีข้อจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ปัญหาดังกล่าวนอกจากตัวผู้ร้องเบิกความตามที่กล่าวมาในทางนำสืบของผู้ร้องแล้วผู้ร้องยังมีนายวิศิษฎ์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของหลวงสิทธิเทพการเจ้ามรดกเป็นพยานสนับสนุนโดยเบิกความว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมี ส.ค.1 เลขที่ 8 มีชื่อพยานเป็นเจ้าของหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม บรรดาทายาทได้ตกลงแบ่งมรดกกันที่ดินพิพาทตกได้แก่นางแช่มมารดาผู้ร้อง ปี 2511 นางแช่มถึงแก่กรรม หลังจากนั้นนายสนิท วิสิทธิ์ศิลป์ ผู้ดูแลกองมรดกให้นายลำใยบิดาจำเลยไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์นายลำใยนำแบบพร้อมหนังสือมอบอำนาจมาให้พยานลงชื่อ พยานในฐานะเป็นผู้มีชื่อใน ส.ค.1 จึงได้ลงชื่อไป ภายหลังพยานทราบว่านายลำใยไปดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วโอนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรของตน ความจริงจะต้องโอนให้ผู้ร้องนายสนิทเป็นพยานผู้ร้องเบิกความว่า พยานเป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทในนามของนายวิศิษฎ์ โดยจัดการให้คนเช่า เก็บค่าเช่าทำสัญญาเช่าก่อนนี้มีนายหนูและนางพูนเช่า ต่อมามีนายใบนางอยู่เล้งขอแบ่งเช่านอกจากนี้พยานยังได้ว่าจ้างนายลำใยเป็นคนช่วยพยานดูแลและจัดการผลประโยชน์ต่อมานายลำใยลาออกได้มีนายนิติ วิสิทธิ์ศิลป์ และนายวิวัฒน์ หลวงคลังฤทธิ์เดชช่วยพยานดูแล นายนิติพยานผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อปี 2523 พยานได้มาช่วยนายสนิทบิดาดูแลที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของผู้ร้อง พยานเป็นคนไปตามนายหนูนางพูนซึ่งเช่าที่ดินพิพาทด้านทิศเหนือ จำนวน 23 ไร่และนายใบนางอยู่เล้งซึ่งเช่าซึ่งที่ดินพิพาทด้านทิศใต้จำนวน20 ไร่ ให้ไปชำระค่าเช่า พยานเป็นผู้จัดทำสัญญาเช่าตามเอกสารหมายร.11 ถึง ร.18 นางพูน สังข์ทอง นายใบและนางอยู่เล้ง สว่างศิลป์สามีภริยาเป็นพยานเบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของหลวงสิทธิเทพการ นางพูนได้เช่าที่พิพาทจากหลวงสิทธิเทพการครั้นหลวงสิทธิเทพการถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกมาเป็นของนางแช่มนางพูนได้ทำสัญญาเช่ากับนางแช่ม ต่อมานางพูนได้แบ่งที่ดินพิพาทให้นายใบนางอยู่เล้งเช่า นางอยู่เล้งได้ทำสัญญาเช่ากับนายสนิทผู้ดูแลผลประโยชน์ของหลวงสิทธิเทพการ ต่อมาพยานผู้เช่าทั้งสามได้ทำสัญญาเช่ากับผู้ร้องพยานผู้เช่าทั้งสามได้ปลูกอาคารที่พักอาศัย และปลูกอ้อย หน่อไม้ฝรั่ง โดยจำเลยไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นว่า พยานของผู้ร้องดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันและยังมีพยานเอกสารต่าง ๆ อีกมากมายสนับสนุน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็คงมีแต่พยานเอกสารซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิเท่านั้น ส่วนการครอบครองโจทก์อ้างแต่เพียงว่า ก่อนจดทะเบียนจำนองโจทก์ได้ให้นายวิรัช เลาหะกาญจนศิริลูกจ้างโจทก์สาขาท่าเรือไปตรวจสอบ ปรากฎว่าในที่ดินพิพาทมีการเช่าอยู่ แต่ผู้เช่าไม่บอกว่าเช่าจากใคร เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้ยืนยันว่าก่อนโจทก์รับจดทะเบียนจำนองจำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครอง โจทก์คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยมีชื่อถือสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของหลวงสิทธิเทพการ เมื่อหลวงสิทธิเทพการถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่นางแช่มมารดาของผู้ร้อง ต่อมานางแช่มถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองมาโดยตลอด ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแม้ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าจำเลยมีสิทธิเช่นนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทข้อสันนิษฐานตามมาตราดังกล่าวย่อมตกไป การที่จำเลยซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามก็หามีผลให้โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาทในฐานะผู้รับจำนองไม่ เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share