คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิของตนเอง แต่เป็นการใช้สิทธิของผู้เยาว์ เพราะผู้เยาว์ใช้สิทธิด้วยตนเองยังไม่ได้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจึงใช้สิทธินั้นแทนด้วยอำนาจกฎหมาย โดยมิต้องให้ผู้เยาว์มอบอำนาจดังเช่นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ เมื่อผู้เยาว์ไม่มีสิทธิฟ้องบุพพการี โดยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 แล้ว ผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภริยานายอรุณ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรหนึ่งคนคือเด็กชายนิโรธ ซึ่งนายอรุณบิดารับรองว่าเป็นบุตร นายอรุณตายแล้ว มีที่ดินเป็นมรดก ๒ แปลง กับมีเรือนหนึ่งหลัง ซึ่งนายอรุณกับโจทก์ร่วมกันปลูกสร้างขึ้น ที่ดินและเรือนนี้ จำเลยเข้าครอบครองไม่ยอมแบ่งให้เด็กชายนิโรจและโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาแบ่งให้
จำเลยให้การว่า ที่ดินและเรือนเป็นของจำเลยซื้อมาและปลูกสร้างขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง
ศาลชั้นต้นฟังว่าที่ดินและเรือนเป็นของนายอรุณ คดีนี้โจทก์ใช้อำนาจผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีในนามของตนเอง มิใช่เด็กชายนิโรจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ไม่เป็นอุทลุม พิพากษาให้แบ่งที่ดินและเรือนให้เด็กชายนิโรจและจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเด็กชายนิโรจเป็นบุตรนายอรุณ ๆ เป็นบุตรจำเลย จำเลยย่อมเป็นบุพพการีของเด็กชายนิโรจ การที่นางย้ายฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายนิโรจ เท่ากับเด็กชายนิโรจเป็นผู้ฟ้องคดีเอง จึงเป็นคดีอุทลุม เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไป พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่าไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะโจทก์ฟ้องเอาทรัพย์ส่วนของเด็กชายนิโรจมาให้เด็กชายนิโรจ โจทก์กับจำเลยเป็นคนอื่น มิใช่บุพพการี กับฎีกาข้อเท็จจริงว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดก ขอให้โจทก์ชนะ
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ฟ้องคดีในนามตนเองขอแบ่งเรือนพิพาทนั้นย่อมฟ้องได้ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเรือนพิพาทเป็นของนายอรุณผู้ตาย โจทก์มิได้เป็นเจ้าของร่วมและโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ ข้อหาส่วนที่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวเป็นอันยุติไปแล้ว
ส่วนข้อหาที่โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายนิโรจนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงอำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๙ และ ๑๕๔๓ แล้ว เห็นได้ว่าผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิเฉพาะเกี่ยวกับตัวบุตร และจัดการทรัพย์สินของบุตรเท่านั้น การฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิของบุตร เพราะบุตรใช้สิทธิของตนเองยังมิได้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจึงใช้สิทธินั้นแทนตามอำนาจกฎหมายโดยมิต้องให้บุตรมอบอำนาจดังเช่นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ เมื่อบุตรผู้เยาว์ไม่มีสิทธิฟ้องบุพพการี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๔ ผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้
พิพากษายืน

Share