คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คที่ไม่ปรากฎว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไยเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่น ถ้าธนาคารใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากการประมาทเลินเล่อย่อมไม่ต้องรับผิด
ระหว่างธนาคารผู้จ่ายเงินกับผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นมีความผูกพันกันตามสัญญาที่เคยค้าอาศัยในการสั่งจ่ายเงินอยู่ด้วย ฉะนั้นเมื่อผู้สั่งจ่ายเช็คมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงิน 60,000 บาท แม้จะมีผู้แก้จำนวนเงินเป็น 50,000 บาท และธนาคารจ่ายไปตามนั้นก็ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำสั่ง
เช็ค+ลงวันที่ ๆ ออกเช็คแต่เช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าก็หาเสียไปไม่
ธนาคารย่อมจะต้องใช้เงินในทันทีที่มีผู้นำเช็คมาเบิกเงินเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ม.991,992, ฉะนั้นเมื่อไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าเช็คนั้นลงวันที่ล่วงหน้าแล้วมีผู้แก้วันที่ร่นเข้ามาและนำมาเบิกเงินธนาคารได้จ่ายเงินไปโดยสุจริตปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมไม่ต้องรับผิด
ประเด็นข้อสุจริตหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่โจทก์ผู้กล่าวอ้างต้องนำสืบ

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่าได้สั่งว่าเงินจากบัญชีโจทก์ ซึ่งฝากไว้กับธนาคารจำเลยโดยเช็ค ๓ ฉบับเป็นค่าซื้อของ ให้รับเงินตามเช็คได้ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๔ แต่มีพฤติการณ์บางอย่างโจทก์จึงไปยังธนาคารจำเลย เมื่อวันที่ ๒๔ เดือนนั้นเพื่อบอกกล่าวอายัติการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไว้ แต่ปรากฎว่าธนาคารว่าธนาคารจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คฉบับหนึ่งไปเสียแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๙๔ ทั้งนี้เพราะเช็คฉบับนั้นได้ถูกแก้ลบวันสั่งจ่ายจากวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๔ เป็น ๒๑ เมษายน ๒๔๙๔ จำนวนเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทถูกแก้เป็น ๕๐,๐๐๐ บาท เส้นขีดคร่อมถูกบอกวันที่ที่ขีดฆ่าอากรก็ถูกลบออกหมด ทั้งนี้เป็นเพราะพนักงานธนาคารจำเลย ทำการไม่สุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงขอให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เช็ครายพิพาทได้มีการแก้ไขรายการในข้อสำคัญจริงและการแก้ไขนั้นไม่อาจเห็นประจักษ์ด้วยตาเปล่า ปัญหาว่าธนาคารจำเลยจะต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้นเห็นว่า ตาม ป.พ.พ.ม.๙๙๗ วรรค ๓ บัญญัติ ถ้าเช็คที่ไม่ปรากฎว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่น ถ้าธนาคารใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากการประมาทเลินเล่อ ธนาคารก็ไม่ต้องรับผิด ข้อที่ว่าสุจริต+หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบ ส่วนที่ว่าประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น จำเลยนำสืบฟังได้ว่ามิได้ประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่มีพยานนำสืบหักล้าง ส่วนในเรื่องนี้เช็คมีการแก้ไขปลอมแปลงจำนวนเงินจาก ๖๐,๐๐๐ บาทเป็น ๕๐,๐๐๐ บาทนั้นเห็นว่าตาม ป.พ.พ.ม. ๑๐๐๗ นั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ทรงกับผู้ที่ลงลายมือชื่อซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินเท่านั้น แต่ระหว่างธนาคารผู้จ่ายเงินกับผู้เคยค้าผู้สั่งจ่ายเช็คยังมีความผูกพันกันตามสัญญาที่ผู้เคยค้าอาศัยในการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินนั้นอยู่ด้วย ที่โจทก์มีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทแม้จะมีผู้แก้จำนวนเงินเป็น๕๐,๐๐๐ บาท และธนาคารจ่ายเงินไปตามนั้น ก็ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำสั่งอย่างใด ส่วนเรื่องเช็คถูกแก้วันที่ ๒๕ เป็น ๒๑ และธนาคารจ่ายเงินไปก่อนที่โจทก์มาห้ามการใช้เงินก่อนวันที่ ๒๕ ที่โจทก์ลงในเช็คนั้น เห็นว่าเช็คนั้นต้องลงวันที่ที่ออกเช็คตาม ม. ๙๘๘(๖) เช็คเป็นคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินในทันทีที่ทวงถามตาม ม.๙๘๗ ธนาคารย่อมใช้เงินในทันทีที่มีผู้นำเช็คมาเบิกเงิน เว้นแต่จะจะเข้ายกเว้นตาม ม.๙๙๑,๙๙๒, แม้การที่ผู้สั่งจ่ายลงวันที่ล่วงหน้าจะไม่ทำให้เช็คเสียไปก็ตาม แต่เมื่อไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าเช็คนั้นลงที่ล่วงหน้า ธนาคารได้จ่ายเงินไปตามคำสั่งในเช็คโดยสุจริต และปราศจากความประมาทเลินเล่อแล้วก็ไม่ต้องรับผิด จึงพิพากษายืน

Share