แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยไม่ยอมให้ใครเข้าไปซ่อมเหมืองสาธารณะ ซึ่งคันเหมือนถูกทำลายเป็นเหตุให้น้ำไม่ไหล ไปตามลำเหมืองไปสู่นาของราษฎรตามปกตินั้น กรมการอำเภอย่อมมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
มาตรา 122 ที่จะสั่งให้จำเลยเลิกถอนการบุกรุกเหมืองนี้ได้ เมื่อสั่งแล้ว จำเลยบังอาจขัดขืนโดยยึดถือเอาเหมืองนั้น
เป็นที่ของตนเสีย ไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าไปซ่อม หรือทำเหมืองให้น้ำไหลไปตามปกติแล้ว จำเลยก็ย่อมมีความผิดฐานขัด
คำสั่งเจ้าพนักงานตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 334(2).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ที่สั่งให้จำเลยเลิกถอนการบุกรุกเหมืองสาธารณะ ฯลฯ
ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ และต่อสู้ว่า ไม่มีเหมืองสาธารณะแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๓๔(๒) ปรับ ๓๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เหมืองรายนี้เป็นเหมืองสาธารณะ เมื่อคันเหมืองถูกทำลาย เป็นเหตุให้น้ำไม่ไหลตามลำเหมืองไปสู่นา
ราษณฎรตามปกติ และจำเลยไม่ยอมให้ใครซ่อม ดังนี้ นายแก้วปลัดอำเภอในฐานะกรมการอำเภอจึงมีอำนาจตาม
พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ สั่งให้จำเลยเลิกถอนการบุกรุกเหมืองนี้ได้ การที่จำเลยทราบคำสั่งแล้ว
บังอาจขัดขืน โดยยึดถือเอาเหมืองเป็นที่ของตนเสีย ไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าไปซ่อมหรือทำเหมืองให้น้ำไหลไปตามปกติ ดังนี้
ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานขัดคำสั่งแล้ว จึงพิพากษากลับบังคับให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.