คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 54/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะรื้อฟื้นเอาคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว มาเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 และมาตรา 3
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 12 ถึง 16 ได้บัญญัติเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยไว้และได้มี ม.41 บัญญัติถึงเงื่อนไขในการที่จะกักกันไว้ด้วย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.กักกันฯ พ.ศ.2479 ม.8,9 ต้องนำบทบัญญัติม.41 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับ

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย. ๒๔๙๗ จำคุกจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๙๗ และเพิ่มโทษตามม.๗๓ กึ่งหนึ่ง จำคุก ๓ ปี กับให้กักกันตาม พ.ร.บ.กักกันฯ ๒๔๗๙ ม.๘,๙ อีก ๓ ปี คดีเสร็จเด็ดขาดถึงที่สุด ต่อมาวันนี้ ๑๘ เม.ย. ๒๕๐๐ ผู้อำนวยการสถานกักกันจังหวัดนครปฐมมีหนังสือแจ้งต่อศาลชั้นต้นว่า ประมวลกฎหมายอาญา ม.๔๑ ได้ยกเลิกและแก้ไขโทษตาม พ.ร.บ.กักกันฯ ๒๔๗๙ จำเลยจึงควรได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยพ้นจากการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๒
โจทก์อุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ยกเลิกพ.ร.บ.กักกันฯ ๒๔๗๙ และคดีเด็ดขาดถึงที่สุด ศาลจะรื้อฟื้นเอาคำพิพากษามาเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว จะรื้อฟื้นเอาคำพิพากษามาเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่นั้น ทำได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๒ วรรค ๒ และม.๓ ส่วนปัญหาว่าศาลจะบังคับคดีไปตามเดิมหรือยกเลิกการกักกันนั้น วินิจฉัยว่าคดีเข้าอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๒ ถึง ๑๖ อันว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัย เดิมศาลพิพากษากักกันจำเลยตาม พ.ร.บ.กักกันฯ ๒๔๗๙ โดยจำเลยต้องโทษมาแล้ว ๒ ครั้ง แล้วมากระทำความผิดอันเป็นเหตุร้ายซ้ำอีก แต่ปรากฎว่าโทษที่จำเลยได้รับในครั้งแรกนั้น จำเลยมีอายุไม่เกิน ๑๗ ปี และกำหนดโทษจำคุกเพียง ๓ เดือน ซึ่งเงื่อนไขในการที่ให้กักกันได้ถูกเปลี่ยนแปลงตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๔๑ อันต้องประกอบกับผู้กระทำผิดเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้วหรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง และกระทำในขณะที่มีอายุเกิน ๑๗ ปีด้วย ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกการกักกัน พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share