แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีเอกชนคนใดถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนต่อมาได้มีประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะรวมถึงที่พิพาทด้วยและได้มีการแจ้งส.ค.1 สำหรับที่ดินตามประกาศเมื่อ ออกประกาศแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองที่หวงห้ามโดยทำรั้วรอบที่ดินจัดตลาดสดมีโครงการจัดสร้างสนามเด็กเล่นสนามกีฬาและหอประชุมเป็นต้นแม้ประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือได้ว่าที่ดินที่โจทก์ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตอำเภอเมืองสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2483 นายอำเภอเมืองสกลนครได้มีประกาศที่ 3840 เรื่องห้วงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 1 แปลง อยู่ที่บ้านธาตุนาเวง เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน และได้จดทะเบียนไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ได้ครอบครองตลอดมาเมื่อเดือนธันวาคม 2515 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยอ้างว่าได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามเส้นสีแดงในแผนที่ว่าเป็นของจำเลยที่ 2 แล้วยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครให้ออกโฉนด โจทก์คัดค้าน จำเลยทั้งสามได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านเนื้อที่100 ตารางวา ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขับไล่จำเลยทำที่ดินให้เป็นไปตามสภาพเดิมและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งครอบครองมาโดยสุจริตและให้จำเลยที่ 3 อาศัยปลูกบ้าน ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประกาศท้ายฟ้องมีเนื้อที่เพียง 277 ตารางวาเท่านั้น ที่ว่ามีเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน เพราะนายอำเภอเมืองสกลนครใช้อำนาจและหน้าที่โดยไม่สุจริตแอบอ้างเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 ไปรวมกับที่สาธารณะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิแจ้งการครอบครองที่พิพาทการประกาศหวงห้ามที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงไม่ทำให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้การประกาศหวงห้ามที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายแต่โจทก์ได้สร้างตลาดสาธารณะในที่หวงห้ามนี้ ถือได้ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องคอยตรวจตรารักษามิให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว โจทก์มีอำนาจฟ้องพิพากษากลับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ทำที่ดินให้เป็นไปตามสภาพเดิมและร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีเอกชนคนใดถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนเมื่อ พ.ศ. 2498 นายอำเภอเมืองสกลนครได้แจ้ง ส.ค.1 สำหรับที่ดินรวมถึงที่พิพาทด้วยว่าได้มาโดยประกาศหวงห้ามลงวันที่ 9 ตุลาคม 2483 และจำเลยที่ 2 ได้แจ้ง ส.ค.1 ที่พิพาทว่าได้มาโดยมรดก ต่อมา พ.ศ. 2515จำเลยที่ 2 นำส.ค.1 ที่พิพาทไปขอออกโฉนด โจทก์คัดค้าน ประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะลงวันที่ 9 ตุลาคม 2483 รวมถึงที่พิพาทด้วยแล้ววินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะของโจทก์ไม่ชอบเพราะไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์ประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ประกาศหวงห้ามเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีเอกชนคนใดถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน เมื่อออกประกาศแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองที่หวงห้ามโดยทำรั้วรอบที่ดิน จัดตลาดสด ทั้งมีโครงการจัดสร้างสนามเด็กเล่น สนามกีฬา หอประชุมประจำตำบลและที่พักผ่อนหย่อนใจหน่วยราชการอื่นเคยขอใช้ที่หวงห้ามรายนี้โจทก์ขัดข้องเรื่อยมา หาใช่โจทก์ประกาศหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วมิได้ครอบครองและทำประโยชน์ไม่ จึงถือได้ว่าที่ดินที่โจทก์ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งรวมทั้งที่พิพาทด้วยเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัวตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรคสาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน