คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมการศาสนามีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับศาสนสมบัติของวัดได้เพราะมีระเบียบตราไว้ให้มีอำนาจจัดการผลประโยชน์ของวัด
อธิบดีผู้ซึ่งมีกระแสพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับทราบคำสั่งและยังไม่ได้ส่งมอบงานย่อมยังมีอำนาจตั้งทนายแทนกรมได้
เมื่อตำแหน่งอธิบดีว่างลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงย่อมมีอำนาจตั้งข้าราชการชั้นใด ๆ ก็ได้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดี ในเมื่อเห็นเป็นการสมควรผู้รักษาการผู้ได้รับคำสั่งนั้นย่อมมีอำนาจตั้งทนายแทนกรมนั้นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำหนังสือเช่าที่ธรณีสงฆ์วัดหัวลำโพงมีกำหนด ๑ ปีเพื่อใช้ทำสวน จำเลยให้ผู้อื่นปลูกบ้านและเข้าครอบครองที่เช่าหลายรายเป็นการผิดสัญญา สัญญาเช่าหมดอายุแล้ว จึงขอให้ศาลขับไล่และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าจำเลยเช่าที่ดินเพื่อสร้างเคหะเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อครบสัญญาเช่าแล้วก็ได้เช่าต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา กับตัดฟ้องว่าวัดหัวลำโพงเป็นนิติบุคคลโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทน นายบุญช่วย สมพงษ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาไปก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจึงไม่มีอำนาจแต่งทนายความ โจทก์ไม่ได้บอกเลิกการเช่าถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยว่า
๑.จำเลยต่อสู้ว่าได้เช่าที่ดินเพื่อยู่อาศัย จำเลยจึงต้องนำสืบ
๒.มีระเบียบตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๔๙ ว่ากรมการศาสนามีหน้าที่จัดผลประโยชน์ต่าง ๆ ของวัดซึ่งคณะสงฆ์มอบไว้ และวัดหัวลำโพงได้มอบให้กรมการศาสนามีหน้าที่จัดผลประโยชน์ จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
๓.เรื่องนี้นายบุญช่วยได้รับทราบคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาและได้มอบงานให้ผู้รักษาการแทนอธิบดีคนใหม่ในวันที่ ๒๗ พ.ศ.๙๗ แม้ความจริงจะมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๘ พฤษภาคม แล้วก็ดี แต่การที่นายบุญช่วยได้ดำเนินคดีนี้และแต่งตั้งทนายความในวันที่ ๑๘ พฤภาคม ก็ย่อมใช้ได้
๔.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมย่อมมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการชั้นใดก็ได้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ) ผู้รับรับแต่งตั้งย่อมมีอำนาจแต่งตั้งทนายได้
๕.การบอกเลิกสัญญาเช่าแม้จะกำหนดวันในหนังสือบอกเลิกน้อยกว่าที่ ก.ม.กำหนด แต่ก็ปรากฏว่ากว่าที่ที่ให้เช่าจะได้ฟ้องขับไล่ผู้เช่าก็เป็นเวลาเกินกว่าวันที่ ก.ม. กำหนดให้ผู้เช่าบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ผู้เช่าจะยกข้อนี้ขึ้นต่อสู้ศาลไม่ได้
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน.

Share