คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงกำหนดให้ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแม้จำเลยจะไม่ฎีกาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่จำนวน 42 ไร่ และตัดฟัน ต้นไม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ชนิดต่าง ๆ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 กฎกระทรวง ฉบับที่ 558 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2516 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าจำเลยครอบครองที่เกิดเหตุประมาณ 20 ไร่โดยผู้บุกเบิกที่ดินนี้มาก่อนยกให้จำเลยทำกินเมื่อ พ.ศ. 2515

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่จำนวน 20 ไร่ พยานหลักฐานไม่พอฟังว่าจำเลยตัดฟันต้นไม้อัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ในป่าตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคแรก กฎกระทรวง ฉบับที่ 558 (พ.ศ. 2516) ลงวันที่ 23 กรกฎาคม2516 จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากป่าสงวนตามฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 42 ไร่ พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง จำคุก 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุเพียง 20 ไร่ เมื่อพ.ศ. 2515 กรณีจึงเป็นเรื่องที่เข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในป่าสวงนแห่งชาติ ก่อนกฎกระทรวง ฉบับที่ 558 (พ.ศ. 2516) ลงวันที่ 23 กรกฎาคม2516 กำหนดให้ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 215, และ 225

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share