แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาเขียนให้เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่เนี้อหารายละเอียดในฎีกายังโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชั่งน้ำหนักและรับฟังคำพยานหลักฐานในคดี ดังนี้ เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในธนาคาร ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งมีมูลประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันกับสำนวนที่จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวเป็นจำเลยอีก ๓ สำนวนแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ สำนวนละ ๒ เดือน รวมเป็น ๘ เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้ ๒ สำนวน ๆ ละ หนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ หกเดือน ๒๐ วัน จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ เดือน
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ทุกสำนวน จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ ๖ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนอกนั้นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับ
จำเลยทั้งสองฎีกาคำสั่ง ศาลฎีกาสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๑ ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาสั่งอนุญาตแล้ว
ชั้นฎีกาจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาจำเลยที่ ๒ ข้อ ๖ ซึ่งมีใจความว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีและพยานหลักฐานในข้อที่ว่า สั่งงดสืบนายจุ้ยพยานสำคัญของจำเลยที่ ๒ โดยปราศจากเหตุสมควร สันนิษฐานซ้อนสันนิษฐานโดยแปลข้อเท็จจริงที่สงสัยเป็นผลร้ายแก่จำเลย ไม่หยิบยกพยานหลักฐานและเหตุผลฝ่ายจำเลยขึ้นวินิจฉัยให้ละเอียด หยิกยกแต่คำพยานโจทก์ขึ้นกล่าว แล้วว่าน่าเชื่อรับฟังได้ มีหลักฐานการคืนเช็คว่า “ผิดเงื่อนไข” แต่ฟังว่าบัญชีมีเงินไม่พอจ่าย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า เนื้อหารายละเอียดในฎีกาข้อ ๖ ของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวแล้ว เป็นฎีกาที่จำเลยที่ ๒ โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชั่งน้ำหนักและรับฟังคำพยานหลักฐานในคดี แต่จำเลยที่ ๒ เขียนให้เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ ๖ ของจำเลยที่ ๒ ไว้ ไม่เป็นฎีกาที่ต้องรับพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นแห่งฎีกา ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ ๒