แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาของศาลคดีเด็กและเยาวชนซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างโดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางนั้นถือว่าศาลมิได้ลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฆ่านายวีระยุทธ์ สาทิสละรัต โดยใช้ปืนยิงแต่ไม่ถูก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 73 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 288, 80, 91
จำเลยรับในข้อมีและพกอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ แต่สู้ว่าใช้ปืนยิงผู้เสียหายเพื่อป้องกันตัว ในการที่ผู้เสียหายกับพวกใช้ดาบไล่ฟันจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าโดยลดมาตราส่วนโทษฐานเป็นเด็กอายุกว่า 17 ปีให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 5 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ชั้นสูง 3 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 9, 10 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 29 บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น ให้ฎีกาไปยังศาลฎีกาได้เหมือนอย่างคดีธรรมดา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามความในมาตรา 27”
มาตรา 27 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 บัญญัติว่า “คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้เหมือนอย่างคดีธรรมดาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(2) ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 31 เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กและเยาวชนไปเพื่อกักกันและอบรมมีกำหนดระยะเวลากับและอบรมเกิน 3 ปี
(3) ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 27 ซึ่งได้แก้โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 27 ห้ามอุทธรณ์เฉพาะกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจ เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนบางประการเท่านั้น มิได้ห้ามจำเลยที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ฉะนั้น จำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา
คดีนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางนั้น มิได้ลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยฎีกาว่า กระทำโดยจำเป็นเพื่อป้องกันตัว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา พิพากษายกฎีกาของจำเลย