แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจสั่งจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 นั้น กฎหมายให้อำนาจศาลไว้เพื่อใช้ตามสมควรแก่กรณี ไม่ใช่บังคับว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป ถ้าศาลใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 133
หมายเหตุ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้องให้โจทก์นำส่งหมายเรียกให้จำเลยหากขัดข้องให้แถลงศาลภายใน 3 วัน โจทก์ไม่ได้รายงานเหตุขัดข้องตามที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีการับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์ 2 ฉบับ โจทก์ได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเช็ค
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องหมายเรียกจำเลยมาแก้คดี ให้โจทก์นำส่งหมายเรียกแก่จำเลยภายใน7 วัน หากส่งหมายเรียกแก่จำเลยไม่ได้ก็ให้โจทก์แถลงให้ศาลทราบภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ส่งหมายเรียกแก่จำเลยไม่ได้
ปรากฏตามรายงานการเดินหมายลงวันที่ 8 สิงหาคม 2509 ของนายรวม สำเนียง นักการผู้ส่งหมายรายงานว่าได้ไปส่งหมายให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2509 แต่ไม่พบจำเลย ส่งหมายให้ไม่ได้ ผู้นำส่งได้รายงานต่อศาลเพื่อจัดการต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2509 ว่า “ฯลฯ ฝ่ายโจทก์จำเป็นต้องมารายงานผลของการส่งหมายไม่ได้ต่อศาลภายใน 3 วัน คือวันที่ 8 สิงหาคม 2509 เป็นอย่างช้า แต่โจทก์มิได้มารายงานผลของการส่งหมายตามที่ศาลสั่งไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีนี้ต่อไป โดยโจทก์ทิ้งฟ้อง จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์เสีย”
ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 11 สิงหาคม 2509 นั้นเองความว่าโจทก์ได้นำพนักงานส่งหมายให้จำเลยแล้วแต่จำเลยไม่อยู่บ้านส่งหมายให้ไม่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายให้จำเลยอีกครั้งหนึ่งหากส่งไม่ได้หรือไม่มีผู้ยอมรับหมายแทนก็ขอให้มีคำสั่งปิดหมายไว้ ณ ที่อยู่ของจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ว่า “คำร้องนี้เพิ่งมาผ่านศาลในวันที่ 29 สิงหาคม 2509 แต่คำร้องลงวันที่ 11 สิงหาคม 2509 ทั้ง ๆ ที่สำนวนนี้อยู่กับเจ้าหน้าที่เก็บสำนวนจึงไม่รับเป็นคำร้องรวมให้ยกคำร้องเสีย
โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 29 สิงหาคม 2509 อีกว่าการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้น ความจริงโจทก์ไม่ได้จงใจทิ้งฟ้อง โจทก์ได้นำส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยภายในกำหนด 7 วันตามคำสั่งศาล แต่ตามระเบียบของกองหมายโดยปกติโจทก์เพียงแต่ได้เซ็นชื่อมอบหมายให้นักการไปส่งให้จำเลยเท่านั้น ที่โจทก์จะรู้ว่าส่งหมายให้จำเลยได้หรือไม่ก็เมื่อได้ทราบรายงานของนักการที่รายงานต่อศาล ซึ่งโจทก์เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2509 เมื่อทราบแล้วก็ได้ยื่นคำร้องในวันที่ 11 เดือนเดียวกันนั้นโจทก์มิได้จงใจทิ้งฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ดำเนินคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลให้ยกคำร้องนี้เสีย”
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนั้นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยเคร่งครัด มิได้จงใจเพิกเฉยหรือทิ้งฟ้อง คำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไม่ชอบ ขอให้สั่งกลับให้ดำเนินคดีต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยมาดำเนินคดีต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว คดีมีปัญหาว่ากรณีเช่นนี้จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอันควรให้จำหน่ายคดีเสียหรือไม่
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เรื่องนี้แม้จะปรากฏว่าโจทก์มายื่นคำร้องรายงานการส่งหมายเมื่อพ้นกำหนดตามที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะจำหน่ายคดีเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ก็ตาม แต่อำนาจสั่งจำหน่ายคดีนั้นกฎหมายให้อำนาจศาลไว้เพื่อใช้ตามควรแก่กรณี ไม่ใช่บังคับว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป ศาลย่อมต้องพิจารณาตามควรแก่การพฤติการณ์ซึ่งถ้าศาลใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายคดี กรณีก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 133 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกา เห็นว่าพฤติการณ์ที่ได้ความในคดีนี้ยังไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีโจทก์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลย