คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7395/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้มีหนังสือขอความเห็นชอบในการจัดสรรกำไรสุทธิ ประจำปี 2537 ต่อจำเลยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ จำเลย ก็มีหนังสือให้คำแนะนำแก่โจทก์ตามคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ เกี่ยวกับการปฏิบัติทางบัญชี เรื่อง การ เอาประกันและ การจำหน่ายทรัพย์สินถาวรของสหกรณ์ แนะนำให้โจทก์จัดสรร เป็นเงินสำรอง ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และจัดสรรเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว กำไรสุทธิที่เหลือ ให้สมทบเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น เมื่อจำเลยมีหนังสือแนะนำ การปฏิบัติให้โจทก์ทราบดังกล่าวแล้ว และตามข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 33 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ว่า ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ (14) พิเคราะห์และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ ฯลฯ แต่ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์กลับไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำ ของจำเลย โดยในการประชุมใหญ่เพื่อจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี 2537 ได้ลงมติให้นำกำไรสุทธิมาจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วน แห่งราคาสินค้าที่สมาชิกได้ซื้อร้อยละ 4 จ่ายเป็นเงินโบนัส แก่กรรมการดำเนินการผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ร้อยละ 5จ่ายเป็นทุนส่งเสริมสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ร้อยละ 10 และจ่ายเป็นทุนรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 นอกเหนือจากที่จำเลยแนะนำไว้ ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่ามติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำของจำเลย ซึ่งเป็นคำแนะนำการปฏิบัติทางบัญชี เรื่อง การเอาประกันและการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรของสหกรณ์ เพื่อให้การปฏิบัติทางบัญชี ของสหกรณ์ที่มีการเอาประกันและการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ทั้งชอบด้วยหลักการของสหกรณ์ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยเห็นว่ามติของที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำของจำเลยโดยชัดแจ้ง อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ข้อ 33(14)จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511มาตรา 46 สั่งเพิกถอนมตินั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์นั้นจำเลยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์สั่งโดยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 46 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับแก่สหกรณ์จำกัดเท่านั้นโดยมุ่งประโยชน์เพื่อควบคุมดูแล กำกับให้การดำเนินการของสหกรณ์จำกัดทุกแห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์แก่สมาชิกทั้งมวลจำเลยในฐานะนายทะเบียนหาได้มีผลประโยชน์ใด ๆ ในสหกรณ์จำกัดไม่ ระยะเวลาในการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ จึงไม่อยู่ในระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 และเมื่อจำเลยได้เพิกถอนมติดังกล่าว ก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2538 ของโจทก์ กรณีถือได้ว่า จำเลยได้ดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งการกระทำ ของจำเลยก็มิใช่เป็นการมิได้ใช้บังคับซึ่งสิทธิเรียกร้อง ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 จึงไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเรื่องการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2537 ตามหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2539
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคำสั่งของจำเลยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ที่สั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์เกี่ยวกับการจัดสรรกำไรประจำปี 2537 ตามเอกสารหมาย ล.3 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจในการพิเคราะห์และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของจำเลยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผลการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ในปี 2537 ขาดทุนเป็นเงิน 99,872.77 บาท แต่เนื่องจากในปีดังกล่าวโจทก์ขายตึกแถวพร้อมที่ดินได้ในราคา 2,800,000 บาท เมื่อรวมราคาตึกแถวพร้อมที่ดินโจทก์กลับมีกำไร ทางบัญชีเป็นเงิน 2,402,376.23 บาท โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มิถุนายน 2538 ขอความเห็นชอบในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี 2537 ต่อจำเลย จำเลยก็มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 ให้คำแนะนำแก่โจทก์ว่ากำไรสุทธิของโจทก์จำนวน 2,402,376.23 บาท เป็นกำไรที่เกิดจากการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรทั้งจำนวน หากไม่มีการจำหน่ายทรัพย์สินแล้ว โจทก์จะไม่มีกำไรสุทธิประจำปีที่จะนำมาจัดสรรได้ เพราะผลการดำเนินงานตามปกติประสบกับการขาดทุนจำนวน 99,872.77 บาท ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติทางบัญชี เรื่อง การเอาประกันและการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรของสหกรณ์ลงวันที่ 20 เมษายน 2516 ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่สหกรณ์มีกำไรจากการขายทรัพย์สินถาวรรวมอยู่ด้วยให้สหกรณ์กันเงินกำไรจากการขายทรัพย์สินถาวรออกก่อนการคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ หรือจ่ายเป็นเงินอื่นใดที่มีผลให้กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ได้รับประโยชน์ จำเลยจึงแนะนำให้โจทก์จัดสรรเป็นเงินสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิ แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท และจัดสรรเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วเป็นเงิน 54,100.60 บาท กำไรสุทธิที่เหลือให้สมทบเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น เมื่อจำเลยมีหนังสือแนะนำการปฏิบัติให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.2ดังกล่าวแล้ว และตามข้อบังคับของโจทก์เอกสารหมาย ล.5 ข้อ 33ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ว่า ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ (14) พิเคราะห์และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ ฯลฯ แต่ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์กลับไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำของจำเลยโดยในการประชุมใหญ่เพื่อจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี 2537 เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2538 ได้ลงมติให้นำกำไรสุทธิมาจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนแห่งราคาสินค้าที่สมาชิกได้ซื้อร้อยละ 4 เป็นเงิน 435,123.73บาท จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการดำเนินการผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ร้อยละ 5 เป็นเงิน 120,118.80 บาท จ่ายเป็นทุนส่งเสริมสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ร้อยละ 10 เป็นเงิน 240,237.63 บาทและจ่ายเป็นทุนรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 เป็นเงิน240,237.63 บาท นอกเหนือจากที่จำเลยแนะนำไว้ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่ามติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำของจำเลย ซึ่งเป็นคำแนะนำการปฏิบัติทางบัญชีเรื่องการเอาประกันและการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรของสหกรณ์เพื่อให้การปฏิบัติทางบัญชีของสหกรณ์ที่มีการเอาประกันและการจำหน่ายทรัพย์สินถาวรเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปทั้งชอบด้วยหลักการของสหกรณ์ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยเห็นว่า มติของที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อแนะนำของจำเลยโดยชัดแจ้งอันเป็นการขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ข้อ 33(14) จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 46 สั่งเพิกถอนมตินั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการสุดท้ายมีว่าการที่จำเลยสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ในกรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 มิได้กำหนดเรื่องอายุความไว้ ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใกล้เคียงมาใช้บังคับ เมื่อจำเลยมีหนังสือเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ล่วงเลยการลงมติกว่า 1 เดือน จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ดังนี้เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 นั้น จำเลยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์สั่งโดยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 46 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับแก่สหกรณ์จำกัดเท่านั้นโดยมุ่งประโยชน์เพื่อควบคุมดูแล กำกับให้การดำเนินการของสหกรณ์จำกัดทุกแห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์แก่สมาชิกทั้งมวล จำเลยในฐานะนายทะเบียนหาได้มีผลประโยชน์ใด ๆ ในสหกรณ์จำกัดไม่ ระยะเวลาในการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์จึงไม่อยู่ในระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 และเมื่อจำเลยได้เพิกถอนมติดังกล่าวก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2538 ของโจทก์กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควรดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ทั้งการกระทำของจำเลยก็มิใช่เป็นการมิได้ใช้บังคับซึ่งสิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9จึงไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย
พิพากษายืน

Share