ในคดีอาญาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ชั้นขอคืนของกลาง กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนก่อนวันยื่นคำร้องขอคืนของกลางมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้คืนรถคันที่เช่าซื้อของกลางหรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2562 )

ในคดีอาญาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ชั้นขอคืนของกลาง กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนก่อนวันยื่นคำร้องขอคืนของกลางมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้คืนรถคันที่เช่าซื้อของกลางหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2562 

                    คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบรถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลาง

                   ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ 2 คัน หมายเลขทะเบียน ตค 1939 สุพรรณบุรี และหมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ของกลาง ซึ่งได้ให้นาย บ. เช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี แต่ต่อมานาย บ. นำรถแทรกเตอร์ทั้งสองคันของกลางไปให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงโดยผู้ร้องไม่ทราบเรื่องและไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยทั้งสองจะนำรถแทรกเตอร์ของกลาง ไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองและไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสองจะกระทำความผิด ทั้งผู้ร้องได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดคดีนี้ ขอให้คืนรถแทรกเตอร์ของกลางแก่ผู้ร้อง

                   โจทก์ยื่นคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ของกลางที่ศาลสั่งริบ อีกทั้งผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง การยื่นคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง

                   ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คืนรถแทรกเตอร์ หมายเลขทะเบียน ตค 1939 สุพรรณบุรี และหมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ของกลาง แก่ผู้ร้อง

                   โจทก์อุทธรณ์

                   ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

                   ผู้ร้องฎีกา

                ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสอง พร้อมยึดรถแทรกเตอร์ หมายเลขทะเบียน ตค 1939 สุพรรณบุรี และหมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่า ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง และสั่งริบรถแทรกเตอร์ของกลางทั้งสองคัน คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะเกิดเหตุผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ของกลาง และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 1939 สุพรรณบุรี ของกลาง แต่ขณะยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ของกลางทั้งสองคัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้ร้องซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้คืนรถแทรกเตอร์ของกลางคันดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เช่าซื้อทรัพย์ที่ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนก่อนวันยื่นคำร้องขอคืนของกลางเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางโดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นเจ้าของแท้จริงในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี จากบริษัท อ. ต่อมาบริษัท อ. โอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ให้แก่ผู้ร้อง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ดังนั้นขณะยื่นคำร้อง ผู้ร้องเป็นเจ้าของทรัพย์ของกลาง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 6383 สุพรรณบุรี ของกลาง ส่วนปัญหาว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องให้นาย บ. เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลาง แล้วนาย บ. นำรถแทรกเตอร์ดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 1 เช่าอีกทอดหนึ่งโดยผู้ร้องไม่ทราบ โดยผู้ร้องอ้างตนเองเป็นพยานและมีนาย บ. เป็นพยานเบิกความเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องกับนาย บ. ทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ผู้ร้องให้นาย บ. เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ดังกล่าวมีกำหนดเวลา 3 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 300,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าปีละ 1 ครั้ง ตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย ร.4 นาย บ. ชำระค่าเช่างวดแรกเป็นเงิน 300,000 บาทให้แก่ผู้ร้องในวันทำสัญญาแล้ว และนาย บ. เบิกความเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าระหว่างนาย บ. กับจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 พยานให้จำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คันดังกล่าวมีกำหนดเวลา 2 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 320,000 บาท โดยพยานไม่เคยแจ้งให้ผู้ร้องทราบ  นอกจากนี้ผู้ร้องมีนาย ช. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นพยานเบิกความเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลาง ระหว่างผู้ร้องกับนาย บ. ทำนองเดียวกับผู้ร้องและนาย บ. โดยนาย ช. อ้างว่าผู้ร้องขอให้พยานไปเป็นพยานในการทำสัญญาเช่าดังกล่าว เห็นว่า แม้ผู้ร้อง นาย บ. และนาย ช. เบิกความตอบทนายผู้ร้องตรงกันว่า  นาย บ. ชำระค่าเช่างวดแรก 300,000 บาท ให้แก่ผู้ร้องในวันทำสัญญา แต่นาย บ. เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า การชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์ทั้งสองคันแก่ผู้ร้องจะชำระเป็นเงินสดแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดต่อปี ซึ่งแตกต่างจากที่ผู้ร้อง นาย บ. และนาย ช. เบิกความตอบทนายผู้ร้อง นอกจากนี้ยังได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุพรรณบุรีว่า จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลาง จากผู้ร้องในอัตราค่าเช่าปีละ 50,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบทั้งในส่วนที่ว่าจำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลางมาจากผู้ใด และเช่าในราคาเท่าใด ทั้งยังปรากฏตามบันทึกจับกุม/ตรวจยึดเอกสารหมาย ค.1 ว่า เมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมในวันที่ถูกจับกุมว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขับรถแทรกเตอร์ให้เถ้าแก่ และให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ถูกจับกุมว่า จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นพิจารณาของศาล ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย ค.5 โดยมิได้ให้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลางมาแต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 1 เพิ่งให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ว่า จำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลางมาจากนาย บ. หลังจากผู้ร้องและนาย บ. เข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ตามลำดับว่า ผู้ร้องให้นาย บ. เช่ารถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลาง แล้วนาย บ. ให้จำเลยที่ 1 เช่ารถแทรกเตอร์ดังกล่าวไปอีกทอดหนึ่ง บ่งชี้ว่าน่าจะมีการแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการขอรถแทรกเตอร์ 2 คัน ของกลางคืน ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

                   พิพากษายืน.

                                                                                                                                                                                                         มกราคม 2565

Share