ข้อถือสิทธิในลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตร การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ความผิดฐานละเมิดอนุสิทธิบัตร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2563)

ข้อถือสิทธิในลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตร การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ความผิดฐานละเมิดอนุสิทธิบัตร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2563)

สุธาทิพย์ จุลมนต์ ทัศนชัยกุล[1]

     ปัญหาว่า ข้อถือสิทธิในลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตร เลขที่ 1651 ของโจทก์ร่วมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 หรือไม่ กล่าวคือ เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว อันได้แก่งานที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 6 วรรคสอง (2) หรือไม่ เพราะหากข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522  เห็นว่า การวางใบมีดบนแป้นหรือจานหมุนของเครื่องสับไม้ตามสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ล้วนใช้วิธีการเดียวกันด้วยการทำร่องบากสำหรับวางใบมีดที่มีระนาบทำมุมเอียงกับระนาบของจานหมุน และเมื่อวางใบมีดแล้วส่วนคมของใบมีดจะยกตัวอยู่เหนือระนาบของจานหมุน ซึ่งน่าจะถือได้ว่ามีขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิเทียบเท่ากับการประดิษฐ์รถย่อยกิ่งไม้ตามอนุสิทธิบัตร เลขที่ 1651 ของโจทก์ร่วม โดยมีส่วนประกอบที่เป็นสาระสำคัญของสิ่งประดิษฐ์และการใช้งานเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเครื่องย่อยกิ่งไม้ที่ใช้แป้นหรือฐานยึดใบมีดของจำเลยทั้งสามก็ใช้วิธีการคล้ายกันนี้ เมื่อฟังได้ว่าการประดิษฐ์ลักษณะดังกล่าวมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับอนุสิทธิบัตร จึงไม่ถือว่าข้อถือสิทธิในลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตร เลขที่ 1651 ของโจทก์ร่วมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 86 ประกอบมาตรา 65 ทศ และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)

แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา

กุมภาพันธ์ 2565

[1]เลขานุการแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา

Share