แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางกล่าวอ้างว่าการทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเพื่อรับตำแหน่งใหม่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการทำตามระเบียบที่ออกมาภายหลังจากโจทก์ได้สอบคัดเลือกแล้ว จึงเรียกเงินเดือนส่วนที่ลดลงไปนับแต่เดือนสิงหาคม 2544 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าการที่จำเลยให้โจทก์ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเป็นการฉ้อฉล ไม่สุจริต ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำไว้กับสหภาพแรงงาน ขัดต่อกฎหมาย แล้วเรียกเงินเดือนส่วนที่ลดลงไปนับแต่เดือนสิงหาคม 2544 เงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อน และเงินอื่นๆ แม้ว่าโจทก์จะอ้างเหตุที่แสดงว่าการทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนไม่ชอบด้วยเหตุที่แตกต่างจากในคดีเดิม และเรียกเงินอื่นเพิ่มมาจากในคดีก่อน แต่เป็นการกระทำสืบเนื่องมาจากมูลกรณีเดียวกัน ซึ่งโจทก์สามารถอ้างในการฟ้องและเรียกร้องเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นมาในคดีเดิมได้ จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยโดยเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2531 วันที่ 3 กันยายน 2533 และวันที่ 26 มิถุนายน 2532 ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,070 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 3,550 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,090 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,740 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2543 จำเลยเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกและลูกจ้างของจำเลยสอบเพื่อทำงานตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการซ่อมบำรุ่งอากาศยาน โจทก์ทั้งสามสมัครสอบเพื่อทำงานตำแหน่งดังกล่าว จำเลยประกาศว่าโจทก์ทั้งสามสอบผ่านข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์โจทก์ทั้งสามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 แต่ยังไม่ประกาศผลการสอบ เดือนเมษายน 2544 จำเลยเรียกโจทก์ทั้งสามสอบสัมภาษณ์เพิ่มเติม จำเลยทำการโดยฉ้อฉลหรือโดยไม่สุจริตแจ้งว่าลูกจ้างทุกคนที่สอบได้ต้องปรับลดเงินเดือนเหลือเดือนละ 11,460 บาท ถ้าไม่ยินยอมจะสอบไม่ผ่าน หากยินยอมจะสอบผ่ายโดยอ้างว่าได้ปรึกษากรมแรงงาน (ที่ถูกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) แล้วสามารถทำได้แม้จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าห้ามปรับลดเงินเดือนกับผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยไว้แล้วก็ตาม ซึ่งการปรับลดเงินเดือนจำเลยเพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2543 และไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ทั้งสามหลงเชื่อจึงทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเหลือเดือนละ 11,460 บาท จำเลยจึงประกาศผลการสอบว่าโจทก์ทั้งสามสอบผ่านและได้รับตำแหน่งใหม่ ต่อมาโจทก์ทั้งสามทราบว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฉ้อฉลหรือไม่สุจริตทั้งผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำไว้กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ผิดกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจะต้องคืนเงินเดือนส่วนที่ถูกหักไว้ โดยโจทก์ที่ 1 ถูกหักเดือนละ 13,610 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 653,280 บาท เงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนและเงินอื่นๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือน พฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 10,023,668 บาท โจทก์ที่ 2 ถูกหักเดือนละ 10,630 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 510,240 บาท เงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 1,115,127 บาท โจทก์ที่ 3 ถูกหักเงินเดือน 14,280 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 685,440 บาท เงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 1,363,168 บาท ขอให้พิพากษาว่าหนังสือยินยอมให้ลดเงินเดือนของโจทก์ทั้งสามเป็นโมฆะ ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนที่หักไว้คืนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 653,280 บาท พร้อมกับจ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 42,129 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2548 กับจ่ายเงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนและเงินอื่นๆ ตามกฎหมายจำนวน 1,023,668 บาท ให้จ่ายเงินเดือนที่หักไว้คืนแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 510,240 บาท พร้อมกับจ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 39,696 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2548 กับจ่ายเงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนและเงินอื่นๆ ตามกฎหมายจำนวน 1,115,127 บาท และให้จ่ายเงินเดือนที่หักไว้คืนแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 685,440 บาท พร้อมกับจ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 43,190 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2548 กับจ่ายเงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อนและเงินอื่นๆ ตามกฎหมายจำนวน 1,363,168 บาท
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ในประเด็นเดียวกับคดีก่อนจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอในการวินิจฉัยให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การที่คู่ความไม่โต้แย้งกันปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยเปิดการสอบคัดเลือกบรรจุพนักงาน (ลูกจ้าง) ในสังกัดกองควบคุมงานซ่อมบำรุงอากาศยาน ฝ่ายปฏิบัติงานซ่อมบำรุงอากาศยาน โจทก์ทั้งสามสมัครเข้าสอบคัดเลือกและสอบผ่านได้รับการคัดเลือกบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งดังกล่าว จำเลยได้โอนย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2544 และได้ลดเงินดือนของโจทก์ทั้งสามลงเหลือเดือนละ 11,460 บาท ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเคยร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3686-3691/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 6309-6314/2545 ซึ่งในสำนวนดังกล่าวโจทก์ทั้งสามระบุในคำฟ้องว่าก่อนที่จะมีการลดค่าจ้างโจทก์ทั้งสาม จำเลยได้ออกระเบียบครั้งที่ 36/2543 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 และเรียกโจทก์ทั้งสามไปพบ แล้วแจ้งให้ทราบว่าหากโจทก์ทั้งสามจะรับตำแหน่งใหม่จะต้องยินยอมลดเงินเดือนและเข้ารับงานในตำแหน่งใหม่แต่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าการลดเงินเดือนนั้นไม่ถูกต้องจึงขอให้จำเลยจ่ายเงินเดือนส่วนที่ลดคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม ในคดีดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยลดอัตราเงินเดือนของโจทก์ทั้งสามลงเหลือเพียงเดือนละ 11,460 บาท เป็นไปตามการให้ความยินยอมของโจทก์ทั้งสามโดยสมัครใจซึ่งเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลบังคับได้ และอัตราเงินเดือนที่ลดลงนั้นไม่ใช่ค่าจ้างค้างจ่าย พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย การขอความยินยอมในการลดเงินเดือนของจำเลยเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทั้งสามทราบข้อตกลงดังกล่าว เป็นการไม่สุจริตและฉ้อฉลโจทก์ทั้งสาม นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะซึ่งโจทก์ทั้งสามได้บอกล้างได้ และการลดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามเป็นการมิชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 จึงไม่มีผลบังคับ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ทั้งสามอ้างแต่ในทำนองว่า ในการขอความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามของจำเลย จำเลยบอกว่าหากโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมจำเลยจะถือว่าโจทก์ทั้งสามสอบไม่ผ่านโดยมิได้อ้างถึงความสุจริตหรือการฉ้อฉล ทั้งมิได้อ้างถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยดังที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามอ้างว่าหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเป็นโมฆะ เป็นการฉ้อฉล ไม่สุจริต หรือผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ล้วนเป็นข้ออ้างตามคำฟ้องหรือคำฟ้องอุทธรณ์ในคดีเดิมทั้งสิ้น จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ทั้งสามเคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3686-3691/2545 หมายเลขแดงที่ 6309-6314/2545 หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลแรงงานกลางในคดีเดิมและคดีนี้มีความแตกต่างกัน และในคดีเดิมโจทก์ทั้งสามฟ้องว่าการตกลงทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนของโจทก์ทั้งสามเป็นโมฆียะ แต่ในคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนของโจทก์ทั้งสามเป็นการฉ้อฉลหรือผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างที่จำเลยทำไว้กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทำให้หนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเป็นโมฆะ จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุคนละเหตุกับคดีเดิมและเหตุตามคดีใหม่นี้ศาลฎีกาก็ไม่ได้รับวินิจฉัยในคดีก่อนแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ในคดีเดิมที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าการทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเพื่อรับตำแหน่งใหม่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการทำตามระเบียบที่ออกมาภายหลังจากโจทก์ทั้งสามได้สอบคัดเลือกแล้วจึงเรียกเงินเดือนส่วนที่ลดลงไปนับแต่เดือนสิงหาคม 2544 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษายกฟ้อง และเมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนเป็นการฉ้อฉล ไม่สุจริต ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำไว้กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยข้ดต่อกฎหมาย แล้วเรียกเงินเดือนส่วนที่ลดลงไปนับแต่เดือนสิงหาคม 2544 เงินค่าครองชีพ เงินโบนัส ค่าชดเชยวันหยุด ค่าชดเชยวันพักร้อน และเงินอื่นๆ แม้ว่าในคดีนี้โจทก์ทั้งสามจะอ้างเหตุที่แสดงว่าการทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนไม่ชอบด้วยเหตุที่แตกต่างจากในคดีเดิม และเรียกร้องเงินอื่นเพิ่มมาจากในคดีก่อน แต่เป็นการฟ้องถึงการกระทำเดียวกันสืบเนื่องมาจากมูลกรณีเดียวกันที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนและจำเลยลดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามไปตามหนังสือยินยอมดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องจำเลยในคดีเดิม ซึ่งโจทก์ทั้งสามสามารถอ้างเหตุที่แสดงว่าการทำหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนไม่ชอบที่อ้างในคดีนี้ในการฟ้องคดีเดิมและเรียกร้องเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นมาในคดีเดิมได้ ทั้งข้ออ้างตามคำฟ้องคดีนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3910-3915/2547 ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามแล้ว และการวินิจฉัยคดีเดิมกับคดีนี้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือหนังสือยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนของโจทก์ทั้งสาม ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิมที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและเป็นคู่ความเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31”
พิพากษายืน