คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563 (ป.พ.พ.มาตรา 806)

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 บัญญัติว่า ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่ โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดและปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าเหตุที่ปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และในสัญญาจำนอง เป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพรางขึ้นเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ทางธนาคารจะสามารถดำเนินการปล่อยเงินกู้ในการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าการกระทำของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการอำพรางเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินอันเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิอาจล่วงรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ครั้นต่อมาเมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องกลับมาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึดว่าเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตกลงกันว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียวตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ร.7 ทั้งบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ร.7 เป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่ามีพนักงานธนาคารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเบิกความรับรองบันทึกดังกล่าว ล้วนแต่เป็นการง่ายในการจัดทำเอกสารขึ้น จากพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

Share