การบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง และ พ.ร.บ. การประมง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2560)

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

การบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง และ พ.ร.บ. การประมง (ฎ 5129/60 วินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2560 และ 4515/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นมี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ให้ระวางโทษจำคุกหกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีไม่อาจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไปเพราะศาลลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนของโทษปรับที่ศาลนำมาลงโทษจำเลยนั้น พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 มีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าจะในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

(วินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2560 และ 4515/2560)

Share