คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์และจำเลยจะอ้าง ท. เป็นพยาน แต่ตอนที่ ท. เบิกความได้เบิกความในฐานะพยานจำเลย หาได้เบิกความในฐานะพยานโจทก์ด้วยไม่ ว. และ อ. พยานโจทก์ซึ่งนั่งฟัง ท. เบิกความ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 84601 ถึง 84603, 103083 ถึง 103085 และบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1627 เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ จากโจทก์มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาทเพื่อใช้ในกิจการค้ารถยนต์ของจำเลย ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่าต่อเนื่องจากสัญญาเช่าเดิมมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์แจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินที่ให้เช่าด้านหน้าทำการโฆษณาแสดงเครื่องจักรกลและขอปรับค่าเช่าจากอัตราเดิมเดือนละ 100,000 บาท เป็นเดือนละ 300,000 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิทำได้ตามข้อกำหนดในสัญญาเช่า หากจำเลยจะเช่าที่ดินต่อไปให้แจ้งความประสงค์แก่โจทก์เป็นหนังสือก่อนจะสิ้นสุดสัญญาเช่า แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่จำเลยค้างชำระแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเงิน 26,031 บาท แทนจำเลย ขอให้บังคับจำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินและทำการรื้อถอนสถานบริการล้างอัดฉีดรถยนต์ โครงเหล็ก เต็นท์ผ้าใบ ร้านขายอาหารห้องน้ำห้องส้วม ออกไปจากที่ดินที่เช่า กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2539 เป็นเงินเดือนละ 2,000,000 บาท จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินที่เช่า และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 26,031 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายวิชัย ทองแดง กับนางสาวพิมลรัตน์กิติเกียรติโสภณ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และนายอำนาจวงศ์สุวรรณ ไม่มีอำนาจในการตั้งนายสุรศักดิ์ เจียมสถิตย์ ให้เป็นทนายโจทก์นายสุรศักดิ์จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เมื่อต้นปี 2537 นายทองไทร บูรพชัยศรี ประธานกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ได้ชักชวนให้จำเลยลงทุนพัฒนาที่ดินพิพาทโดยสัญญาให้จำเลยมีสิทธิใช้และหาประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เป็นเวลา 10 ปี จำเลยจะต้องชำระค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงินเดือนละ 100,000 บาท เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยต้องยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในที่ดินให้แก่โจทก์ จากนั้นจำเลยได้ลงทุนทำการพัฒนาที่ดิน จัดทำแบบผังของโครงการถมที่ดินปลูกสร้างอาคาร ทำท่อระบายน้ำ จัดหากระแสไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า สัญญาเช่าที่ทำกันไว้เป็นนิติกรรมอำพรางและตกเป็นโมฆะ จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนที่ตกลงกันแล้ว แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาให้บริวารของโจทก์เข้ามาประกอบกิจการส่วนตัวในที่ดินดังกล่าว ทำให้เนื้อที่ดินที่จำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์ลดน้อยลง ทั้งยังเรียกให้จำเลยชำระค่าตอบแทนรายเดือนเพิ่มขึ้นและจะนำที่ด้านหน้าส่วนที่ติดกับถนนบางนา – ตราด ไปใช้ประโยชน์ในการโฆษณาและแสดงเครื่องจักรแต่จำเลยไม่ยินยอม ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาเดือนละ 2,000,000 บาท นั้น ความจริงแล้วให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 100,000 บาท โจทก์มิได้นำเงินจำนวน 26,031 บาท ไปชำระหนี้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยมีกำหนดเวลา 10 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนการเช่า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์กับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยชักชวนจำเลยมาลงทุนพัฒนาที่ดินเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการค้ารถยนต์เก่าของจำเลยมีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าในปีแรกแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ใหม่ ที่จำเลยอ้างว่าสัญญาเช่าที่ดินที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าไม่เป็นความจริง และสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง โจทก์ไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนจำเลย การที่โจทก์ขอปรับค่าเช่าหรือแจ้งความประสงค์จะขอใช้ที่ดินที่เช่าด้านหน้าบางส่วนเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่ทำไว้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1627, 84601, 84602, 84603, 103083, 103084 และ 103085 และให้จำเลยชำระค่าบริการใช้โทรศัพท์ที่โจทก์ทดรองจ่ายไปจำนวน 26,031 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2539 จนกว่าจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 84601 ถึง 84603, 103083 ถึง 103085 และบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 1627 ตำบลบางนาอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ จากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการค้ารถยนต์ของจำเลย ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จากนั้นจำเลยได้เข้าไปดำเนินการถมปรับพื้นที่ในที่ดินรวมทั้งเทคอนกรีตพื้นบางส่วนในที่ดิน สร้างอาคารสำนักงาน โรงจอดรถยนต์และตั้งเต็นท์ เพื่อจอดรถยนต์ ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2538 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ต่ออีก 1 ปี โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ตามสัญญาเช่าเดิมแต่ได้ลดจำนวนเนื้อที่ดินลงมีกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2539 ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ. 2 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยว่า โจทก์มีความประสงค์จะใช้ที่ดินที่ให้เช่าด้านหน้าเพื่อทำการโฆษณาและแสดงเครื่องจักรของโจทก์หากจำเลยประสงค์จะเช่าที่ดินของโจทก์ต่อให้ไปทำสัญญาใหม่ โดยโจทก์ขอขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ขอชำระค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท สำหรับปีที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งโจทก์ส่งเงินคืนและให้มาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แล้ว ไม่มีการทำสัญญาเช่าใหม่ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เช่าตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์และจำเลยต่างอ้างนายทองไทร บูรพชัยศรี เป็นพยาน ซึ่งหมายความว่า นายทองไทรย่อมอยู่ในฐานะพยานโจทก์ด้วย แต่ขณะที่นายทองไทรเบิกความต่อศาล นายวิชัย ทองแดง และนายอำนาจวงศ์สุวรรณ ซึ่งจะต้องเบิกความภายหลังอยู่รู้เห็นการเบิกความของนายทองไทรที่เบิกความก่อนโดยตลอด คำเบิกความของพยานดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่น่าเชื่อฟังได้ การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความของนายวิชัยและนายอำนาจประกอบเอกสารหมาย จ.17 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะอ้างนายทองไทรเป็นพยานก็ตามแต่ตอนที่นายทองไทรเบิกความนั้นได้เบิกความในฐานะพยานจำเลย หาได้เบิกความในฐานะพยานโจทก์ด้วยแต่อย่างใดไม่ การที่นายวิชัยและนายอำนาจพยานโจทก์นั่งฟังนายทองไทรเบิกความ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 เมื่อโจทก์นำนายวิชัยและนายอำนาจ ซึ่งมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับหนังสือมอบอำนาจและการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เข้าเบิกความว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.17 จำเลยมิได้นำสืบถึงหนังสือมอบอำนาจและการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของนายวิชัยและนายอำนาจประกอบเอกสารหมาย จ.17 ว่าโจทก์มีอำนาจให้ฟ้องคดีได้”

พิพากษายืน

Share