กรณีไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์โดยตรง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2561)
สุธาทิพย์ จุลมนต์ ทัศนชัยกุล[1]
พยานฝ่ายโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าแผ่นซีดีเพลงของกลางจำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำซ้ำขึ้นและไม่ปรากฏว่าพบเครื่องมือที่ใช้ในการทำซ้ำในร้านเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) และ มาตรา 28 (1)
เมื่อข้อเท็จจริงในการพิจารณาและคำบรรยายฟ้องได้ความว่า แผ่นซีดีเพลงของกลางซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียง มีผู้ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองนำมาเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณชนภายในร้านสปาโดยใช้เครื่องเล่นแผ่นซีดีซึ่งเชื่อมต่อกับลำโพงทำให้ปรากฏเสียงร้องและทำนองเพลงเพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการได้ฟัง การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) แต่เป็นการกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมมาก่อนแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยตรง
แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา
มิถุนายน 2565
[1]เลขานุการแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา