คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9995/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งหมดส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วมถือว่าสัญญาเช่าซื้อทุกฉบับเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันอีกต่อไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธินำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นใจความว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนต่อกันและต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1248/2543, 591/2544 และ 592/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทอีซูซุ เสนียนต์นครสวรรค์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1248/2543 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2534 และวันที่ 12 ธันวาคม 2534 นางตองเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อพร้อมดั๊มและลูกพ่วงดั๊มจากโจทก์ร่วมรวม 8 คัน ทำสัญญาเช่าซื้อ 8 ฉบับ มีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันและชำระค่าเช่าซื้อ โดยจำเลยออกเช็คตามจำนวนงวดค่าเช่าซื้อ 4 สัญญาแรก 36 ฉบับ และ 4 สัญญาหลัง 36 ฉบับ มอบให้โจทก์ร่วม และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุกับโจทก์ร่วมอีก 1 คัน โดยจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครสวรรค์ รวม 24 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 84,338 บาท มอบให้โจทก์ร่วม ซึ่งเช็คพิพาทฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2541 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 เป็นเช็คชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 13 และ 17 ต่อมาเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหลายฉบับ มีค่าเช่าซื้อค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อพร้อมดัมพ์และลูกพ่วงดั๊ม 8 สัญญา รวม 17 งวด เป็นเงิน 2,360,858 บาท และตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุรวม 10 งวด เป็นเงิน 843,380 บาท เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยถนนมาตุลี-นครสวรรค์ ให้โจทก์ร่วม 12 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระดังกล่าว เช็คพิพาทลงวันที่ 27 มกราคม 2541 สั่งจ่ายเงิน 416,626 บาท กับเช็คอื่นเป็นเช็คชำระค่างวดค้างตามสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อพร้อมดัมพ์และลูกพ่วงดัมพ์ เช็คพิพาทลงวันที่ 27 มกราคม 2541 สั่งจ่ายเงิน 168,676 บาท และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 สั่งจ่ายเงิน 224,901 บาท กับเช็คอื่นเป็นเช็คชำระค่างวดค้างตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ ต่อมาเมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแล้ว แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งห้าฉบับ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลงลายมือสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับมอบให้โจทก์ร่วมโดยมีการเขียนข้อความจำนวนเงิน ลงชื่อโจทก์ร่วมในช่องผู้รับเงินและลงวันที่สั่งจ่ายครบถ้วนแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมระงับไปเพราะคดีเลิกกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทุกคันคืนแก่โจทก์ร่วมแล้ว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน มูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมจึงสิ้นผลผูกพัน เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยออกให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแล้ว แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสี่ฉบับเพราะจำเลยมีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้ต่อมาจำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบคืนโจทก์ร่วม อันเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันก็ตาม ก็หาทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไปไม่ จำเลยยังคงต้องรับผิดตามมูลหนี้ที่ค้างชำระ คดีอาญาจึงยังไม่เลิกกัน ส่วนเช็คพิพาทฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งหมดส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วมแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อทุกฉบับเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันอีกต่อไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธินำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือไปเรียกเก็บเงินได้อีก เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไว้และยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินจึงไม่มีมูลหนี้กันอีกต่อไป การที่โจทก์ร่วมยังคงนำเช็คพิพาทลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นเช็คชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์อีซูซุ งวดที่ 17 ไปเรียกเก็บเงิน ภายหลังสัญญาสิ้นสุดแล้ว แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เพียง 4 กรรม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน ให้ยกฟ้องสำหรับเช็คพิพาทฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share