คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4068/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ที่ได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเท่านั้น จำเลยที่ 1 ได้รับการรอการลงโทษ ย่อมไม่มีวันพ้นโทษ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550
แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ขอให้บวกโทษและไม่ฎีกา ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก ศาลย่อมบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนได้

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 66, 76/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 91 ริบของกลางและบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 851/2548 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง, 26 วรรคหนึ่ง, 76วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 7 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 7 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 400,000 บาท คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 10 เดือน และปรับ 266,666 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี 7 เดือน 15 วัน และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินคนละ 2 ปี ริบอาวุธปืน กระสุนปืน เมทแอมเฟตามีน กัญชาและอุปกรณ์การเสพของกลางทั้งหมด ส่วนคำขอให้บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 นั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ไม่อาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวมาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้ คำขอส่วนนี้และข้อหาอื่นจึงให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 76 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับมาตรา 76) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 2,100,000 บาท จำเลยที่ 3 อายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกมาตรา 76 ประกอบมาตรา 53) จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 1,400,000 บาท ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 1,400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,050,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน และปรับ 700,000 บาท ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 เดือน เมื่อรวมโทษฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง และลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามกับลดโทษให้กึ่งหนึ่งแก่จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 14 เดือน และปรับ 1,400,000 บาท จำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี 7 เดือน 15 วัน และปรับ 1,050,000 บาท และจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 13 เดือน และปรับ 700,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินคนละ 2 ปี ไม่ริบอุปกรณ์การเสพของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 17 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเกาะสมุยนำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 14/3 หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามีภริยาเป็นผู้เช่า และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้าน จากการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในบ้าน 3 แห่ง คือในกระเป๋ากางเกงด้านหลังของจำเลยที่ 3 จำนวน 12 เม็ด ที่ลิ้นชักตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 5 เม็ด และตกอยู่ที่พื้นห้องน้ำอีก 5 เม็ด ในถุงพลาสติก 2 เม็ด นอกจากนั้นยังพบกัญชาแห้งอัดแท่ง 3 แท่ง ในกะละมังใส่ผ้า กัญชาผสมบุหรี่ 1 ถ้วย ถุงพลาสติกขนาดเล็ก 200 ใบ สมุดรายชื่อลูกค้า 2 เล่ม อุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนและกัญชา กับสัญญาเช่าบ้านเลขที่ 76/22 หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายมณเฑียร บุตรนางบุญเยี่ยม เป็นผู้ให้เช่า จึงยึดเป็นของกลาง จากนั้นตามไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 76/22 พบเมทแอมเฟตามีน 10,071 เม็ด แยกใส่ถุงพลาสติก 4 ใบ ซ่อนอยู่ในกล่องกระดาษชำระ กับอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. พร้อมกระสุนปืนขนาดเดียวกันบรรจุอยู่ในซองกระสุนซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอน จึงยึดเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่พบทั้งหมด คือ 10,095 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีอาวุธปืนพกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนพร้อมกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดเฉพาะของกลางที่ตรวจพบในบ้านหลังแรก คือ ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 24 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสำหรับเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนที่พบในบ้านหลังที่สองด้วย โดยไม่อุทธรณ์ขอให้บวกโทษจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับของกลางที่พบในบ้านหลังที่สอง คือ เมทแอมเฟตามีนอีก 10,071 เม็ด กับอาวุธปืนพกพร้อมกระสุนปืนด้วย พิพากษาแก้บทลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจากมาตรา 66 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นมาตรา 66 วรรคสาม กับพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกรรมหนึ่ง รวมกับความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นลงโทษจำเลยทั้งสามรวม 3 กรรม สำหรับฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดเพียงฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์ไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ของกลางมี 7 รายการ คือ เมทแอมเฟตามีนกัญชา อาวุธปืน กระสุนปืน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ถุงพลาสติก 200 ใบ และบัญชีลูกค้ายาเสพติด 1 ชุด ขอให้ริบทั้งหมด และขอให้บวกโทษจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 851/2548 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเฉพาะฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิได้ฟ้องข้อหาร่วมกันจำหน่ายด้วย ทั้งทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสามได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) (2) แต่อย่างใด จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลางตามขอได้ ส่วนคำขอให้บวกโทษจำเลยที่ 1 เข้ากับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 851/2548 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ที่ได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเท่านั้น จำเลยที่ 1 ได้รับการรอการลงโทษ ย่อมไม่มีวันพ้นโทษ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวและไม่ฎีกา ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก ศาลย่อมบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้แก้ไขจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 24 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพลดโทษให้อีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 3 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมกับโทษจำคุกอีก 1 เดือน หลังจากลดมาตราส่วนโทษและลดโทษในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 1 เดือน และปรับ 200,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือ10,071 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 10,095 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หลังจากลดโทษกึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว จำคุก 25 ปี และปรับ 1,050,000 บาทรวมกับโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหลังจากลดโทษกึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,050,000 บาท นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 851/2548 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 20 เดือน และปรับ 1,400,000 บาท ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่องของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share