คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบสามและบริวารที่เข้าไปบุกรุกที่ดินพิพาท ให้ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า จำเลยแต่ละคนครอบครองโดยสุจริต สงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานาน โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แม้จำเลยทั้งสิบสามจะให้การว่า จำเลยแต่ละคนและบริวารทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันกับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่หลายพันไร่มานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ก็ไม่อาจแปลได้ว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ การที่จำเลยทั้งสิบสามนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีนี้จะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง และคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การ และนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นสำคัญในฟ้องเดิม มีผลทำให้การวินิจฉัยคดีในส่วนฟ้องแย้งที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและเห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเสียทั้งหมด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนที่ 1 ถึงที่ 10 จำเลยที่ 2 สำนวนที่ 11 และจำเลยสำนวนที่ 12 และที่ 13 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 1 สำนวนที่ 11 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยดังกล่าวออกจากสารบบความ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบสามสำนวนและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งสิบสามและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทของโจทก์อีก ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,433.52 บาท 3,367.08 บาท 4,074.90 บาท 5,733.06 บาท 4,390.74 บาท 5,228.28 บาท 5,984.04 บาท 5,727.42 บาท 5,092.92 บาท 3,564.48 บาท 3,818.28 บาท 3,054.06 บาท 2,724.12 บาท ตามลำดับ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชดใช้ค่าเสียหายต่อไปนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทโดยให้ชดใช้เดือนละ 790.88 บาท 358.06 บาท 433.36 บาท 609.95 บาท 466.95 บาท 556.33 บาท 636.50 บาท 609.41 บาท 541.70 บาท 379.19 บาท 406.28 บาท 325.02 บาท และ 289.81 บาท ตามลำดับ
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยแต่ละคนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4220 ถึง 4224, 4256, 4260, 4261, 4374 ถึง 4378 ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน คำขอตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ส่วนอื่นให้ยก ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบสามสำนวนโดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 10 ถึงแก่กรรม นายสมควร ทายาทของจำเลยที่ 10 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4220 ถึง 4224, 4256, 4260, 4261, 4374 ถึง 4378 ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เฉพาะส่วนที่พิพาทตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสิบสามมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทรวม 13 แปลง จำเลยทั้งสิบสามและบริวารทำนาในที่ดินพิพาทในส่วนที่ระบายสีชมพู
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแต่ละคนและบริวารได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายโดยสุจริต สงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ส่วนโจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่ามีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาทเป็นการอ้างและได้มาโดยปราศจากสิทธิตามกฎหมาย หากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มีอยู่จริงก็เป็นการออกโดยไม่ชอบนั้น เป็นการบรรยายให้เข้าใจได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด และมีสิทธิดีกว่าหรือเหนือกว่าโจทก์ด้วยเหตุผลใด เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้ยอมรับถึงความถูกต้องของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างแล้ว เอกสารจะมีอยู่จริงหรือไม่จึงมิใช่ข้อสำคัญ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้ให้การยอมรับหรือปฏิเสธโดยชัดแจ้งถึงความมีอยู่จริงของเอกสารจึงไม่มีผล ทั้งมิใช่เป็นการตั้งประเด็นเป็นสองนัยดังที่โจทก์เข้าใจ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ถือว่าได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม ส่วนเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 เสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์อันเนื่องมาจากการให้การและฟ้องแย้งก็ดี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 จะนำสืบพยานหลักฐานตรงตามคำให้การและฟ้องแย้งหรือไม่ก็ดี และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องมีการตีความคำให้การและฟ้องแย้งหรือไม่ก็ดี ล้วนมิใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาว่าฟ้องแย้งเคลือบคลุมหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าฟ้องแย้งเคลือบคลุมหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งเป็นสำคัญ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงและโดยชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการออกจากเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวซึ่งโจทก์ฎีกาพัวพันมากับเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบสามและบริวารบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) รวม 13 แปลง จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า จำเลยแต่ละคนและบริวารต่างเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสุจริต สงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและได้ครอบครองเป็นส่วนสัดมานานแล้ว โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แม้จำเลยทั้งสิบสามจะให้การว่าจำเลยแต่ละคนและบริวารทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันกับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่หลายพันไร่มานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ก็ไม่อาจแปลได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ การที่จำเลยทั้งสิบสามนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะหรือไม่นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา แม้คดีนี้จะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง และคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตามแต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้อันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีตามฟ้องเดิม ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีในส่วนฟ้องแย้งที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขี้นวินิจฉัยและเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเสียทั้งหมด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้งคดีตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share