แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำชำเราแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครองตาม ป.อ. มาตรา 285 ผู้อยู่ในความปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องหมายถึงผู้อยู่ในความปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายเป็นเพียงลูกเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายไม่ใช่ผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครองตาม ป.อ. มาตรา 285 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 276, 295, 285 ริบไม้กวาดของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม), 285, 295, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตนและเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครอง จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 12,000 บาท ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่น จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท รวมจำคุกคนละ 5 ปี 10 เดือน และปรับคนละ 14,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 11 เดือน และปรับคนละ 7,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตนและเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นบุตรสาวหรือผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 2 และเป็นบุตรเลี้ยงของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของมารดาและผู้ปกครองที่ดี เป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายและทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เสียหายอย่างมาก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดวิสัยของผู้มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตนและเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 285, 83 นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำชำเราแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ผู้อยู่ในความปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องหมายถึงผู้อยู่ในความปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายเป็นเพียงลูกเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายไม่ใช่ผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแก่ผู้สืบสันดานและผู้อยู่ในความปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎอาญา มาตรา 281 และปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไปและขอถอนคำร้องทุกข์ตามคำร้องลงวันที่ 27 มกราคม 2551 (ที่ถูก 2552) และ 23 กุมภาพันธ์ 2552 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ย่อมระงับไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4