คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ จ. ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์ โดย จ. ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่จะติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันทางโทรศัพท์ ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบของกลางเช่นนี้ถือว่าเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่จุดนัดหมาย ถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับความผิดสำเร็จฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 และเงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมไว้สำหรับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำมาส่งมอบให้ เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 7, 8 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 65 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91 ริบของกลางและพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 4 ไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในข้อหาเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 100/2 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 57, 91 ด้วย) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 65 (ที่ถูก ระบุมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ด้วย) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอบเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนลงโทษเท่าความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน (ที่ถูก ควรระบุฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอีกบทหนึ่งมีระวางโทษเท่ากัน) จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 40 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 8 เดือน ฐานขับรถในขณะใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุ ปรับ 800 บาท รวมจำคุก 40 ปี 8 เดือน และปรับ 800,800 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี 4 เดือน และปรับ 400,400 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 2 ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลงโทษเท่าความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด มีระวางโทษเท่ากัน (ที่ถูก ควรระบุฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอีกบทหนึ่ง มีระวางโทษเท่ากัน) จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่ถูก ต้องระบุพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 อีกบทหนึ่ง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด) จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 โดยให้จำเลยที่ 4 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 4 ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 4 เห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 1 และที่ 3 เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลางทั้งหมด พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถของจำเลยที่ 4 มีกำหนด 6 เดือน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน แต่ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 08 1068 xxxx หมายเลข 09 0182 xxxx และหมายเลข 08 1302 xxxx กับแผ่นบันทึกข้อมูลโทรศัพท์ 7 อัน ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตรวจค้นภายในรถกระบะพบเมทแอมเฟตามีน 1,948 เม็ด น้ำหนัก 180.5779 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 33.5223 กรัม ที่จะนำไปส่งมอบให้แก่ผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่น ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้พร้อมยึดเงิน 110,000 บาท และของกลางอื่นอีกหลายรายการตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์และบัญชีของกลางคดีอาญา สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรี พัฒนะ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 3 ประจักษ์พยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า หลังจากได้รับแจ้งจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคอนสวรรค์ว่าจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเพื่อให้สืบสวนขยายผลจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้อง จากการสอบถามข้อมูลจากจำเลยที่ 1 ทราบว่า จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาจากนายจ๊อด ไม่ทราบชื่อสกุล ไปส่งแก่เจ๊กอ ระหว่างนั้นนายจ๊อดโทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 หลายครั้ง แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งเจ๊กอที่หน้าธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาภูเขียว จึงมีการวางแผนเพื่อจับกุมเจ๊กอ พยานโจทก์กับพวกและจำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงอำเภอภูเขียว และจอดรถอยู่ฝั่งตรงกันข้ามธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาภูเขียว ซึ่งเป็นจุดนัดหมายห่างประมาณ 20 ถึง 30 เมตร จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อผู้ที่จะมารับเมทแอมเฟตามีนโดยเปิดเสียงโทรศัพท์ให้พยานโจทก์กับพวกได้ยินว่าเจ๊กอและบุตรสาวจะมารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 โดยใช้รถกระบะ ยี่ห้อฟอร์ด ป้ายทะเบียนขอนแก่น พยานโจทก์บอกให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ถึงนายจ๊อดเพื่อบอกแก่ผู้ที่จะมารับเมทแอมเฟตามีนว่าจำเลยที่ 1 เดินทางมาถึงแล้ว ต่อมานายจ๊อดโทรศัพท์บอกจำเลยที่ 1 ว่าบอกให้ผู้ที่จะมารับเมทแอมเฟตามีนแสดงตัวให้จำเลยที่ 1 เห็นจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงออกมายืนบริเวณที่รถกระบะ ยี่ห้อฟอร์ด จอดอยู่ จำเลยที่ 1 เดินไปพูดคุยกับจำเลยที่ 3 พยานโจทก์จึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้พร้อมเงิน 110,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง และโจทก์ยังมีพยานหลักฐานประกอบ คือบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 เวลา 19.06 นาฬิกา และ 19.17 นาฬิกา มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 หมายเลข 08 0781 xxxx และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 หมายเลข 08 0012 xxxx โทรศัพท์ติดต่อถึงกันและกันซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ถึงเจ๊กอให้มารับเมทแอมเฟตามีน ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ๊กอผู้ที่นายจ๊อดให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่ง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์ถึงกันและกัน ทั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่รู้จักกันมาก่อน และจำเลยที่ 3 ออกมาจากรถกระบะ ยี่ห้อฟอร์ด ทะเบียนขอนแก่น ตรงตามที่นายจ๊อดบอกแก่จำเลยที่ 1 พันตำรวจตรี พัฒนะพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับโทษ คำเบิกความของพันตำรวจตรี พัฒนะเป็นการเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอนและมีเหตุผล มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เงินจำนวน 110,000 บาท เตรียมไว้เล่นการพนันและเป็นค่าวัวที่ติดต่อซื้อไว้ คำเบิกความของจำเลยที่ 3 เป็นการขัดต่อเหตุผล เพราะถ้าจำเลยที่ 3 จะไปซื้อวัวจริง ก็น่าจะโทรศัพท์ถึงนายบรรหาร เจ้าของวัว แต่นายบรรหารเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าได้นัดให้จำเลยที่ 3 มาหาในวันที่ 1 กันยายน 2554 แต่ไม่ได้นัดเวลากันไว้ จำเลยที่ 3 ไม่มาตามนัดและไม่ได้โทรศัพท์บอกนายบรรหารถึงเหตุที่ไม่มา หากจำเลยที่ 3 ติดต่อซื้อวัวไว้จำเลยที่ 3 จะต้องขอหมายเลขโทรศัพท์จากนายบรรหารเพื่อติดต่อสอบถามข้อมูล แต่จำเลยที่ 3 กลับไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายบรรหาร ทั้งที่นายบรรหารได้บอกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยที่ 3 และสามีแล้ว แต่จำเลยที่ 3 เดินทางมาพบนายบรรหารโดยไม่ได้โทรศัพท์บอกล่วงหน้า จึงนับว่าเป็นพิรุธ เมื่อพิจารณาประกอบกับบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดแล้ว มีความน่าเชื่อถือ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลที่นายจ๊อดให้จำเลยที่ 1 มาส่งมอบเมทแอมเฟตามีน อีกทั้งจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยไม่ได้ให้รายละเอียดข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 กลับนำสืบปฏิเสธในชั้นพิจารณาโดยยกข้อเท็จจริงและอ้างพยานบุคคลต่าง ๆ อันเป็นการง่ายแก่การสร้างข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธความผิด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายจ๊อดติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์ โดยนายจ๊อดว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่จะติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางกันทางโทรศัพท์ ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางเช่นนี้ ถือว่าเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่จุดนัดหมาย ถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับความผิดสำเร็จฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้คืนเงินจำนวน 110,000 บาท แก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมไว้สำหรับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำมาส่งมอบให้ เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นเป็นข้อปลีกย่อย ไม่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียว กับความผิดสำเร็จ กับความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share