คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่ผู้ทำ ทำยกทรัพย์ให้บุตร ได้ทำตามแบบพินัยกรรม์ความตอนต้นก็บ่งว่าผู้ทำ ทำพินัยกรรม์เป็นคำสั่งเด็ดขาดและจะยกทรัพย์ให้ต่อเมื่อตนตายแล้ว ตอนท้ายก็มีบันทึกของผู้นั่งพินัยกรรม์ตามแบบเดิม และเซ็นชื่อผู้นั่งพินัยกรรม์ถึง 6 คน ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นพินัยกรรม์
ทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์ให้แก่บุตร แล้วภายหลังสั่งให้ผู้รับฝากทรัพย์ตามพินัยกรรม์ให้มอบทรัพย์นั้นแก่บุตรไปในระวห่างที่ตนมีชีวิตอยู่ ก็หาเป็นเหตุลบล้างลักษณะของเอกสารนั้นให้กลับไม่เป็นพินัยกรรม์ได้ไม่
ผู้รับฝากทรัพย์ของเขาไว้เพื่อมอบให้แก่บุตรของผู้ฝากภายหลังได้มอบทรัพย์นั้นแก่บุตรของผู้ฝาก ๆ รู้แล้วมิได้คัดค้านย่อมถือได้ว่าผู้ฝากยินยอมให้ผู้รับฝากมอบทรัพย์ให้แก่บุตรผู้รับฝากย่อมพ้นหน้าที่รับผิดชอบใน ทรัพย์ส่วนนี้ และผู้ฝากก็สิ้นสิทธิที่จะเรียกทรัพย์ส่วนนี้คืนจากผู้รับฝาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ โจทก์ทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์ของโจทก์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก. ให้แก่เด็กชายสมบูรณ์ และหมาย ข. ให้แก่เด็กหญิงสมบัติบุตรโจทก์ ทำพินัยกรรม์แล้วโจทก์ได้มอบทรัพย์ดังกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นพ่อตาเลี้ยงเป็นผู้เก็บรักษาไว้แทนโจทก์เพื่อมอบให้บุตร โจทก์ ทั้งสองเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๔๙๒ โจทก์ได้ไปขอคืนทรัพย์รายนี้ จำเลยขอผัดเสมอไปไม่มีสิ้นสุด จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก.ข. ให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ว่า
๑. เอกสารรายนี้เป็นหนังสือแบ่ง
๒. จำเลยไม่ได้รับฝากทรัพย์
๓. ทรัพย์รายนี้มิได้อยู่ที่จำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑. เอกสารที่โจทก์ทำยกทรัพย์ให้บุตร์นั้นมีลักษณะเป็นพินัยกรรม์ เพราะได้ทำตามแบบพินัยกรรม์ ความตอนต้นก็บ่งว่าโจทก์ทำพินัยกรรม์เป็นคำสั่งเด็ดขาด และจะยกทรัพย์ให้ต่อเมื่อโจทก์ตายแล้ว ตอนท้ายก็มีบันทึกของผู้นั่งพินัยกรรม์ตามแบบเดิม และเซ็นชื่อผู้นั่งพินัยกรรม์ถึง ๖ คน แม้ตัวจำเลยเองก็เบิกความรับว่าโจทก์ทำพินัยกรรม์ฉบับนี้ยกทรัพย์ให้บุตรโจทก์ที่จำเลยว่าต่อมาเมื่อนายสมบูรณ์นาง สมบัติแต่งงานโจทก์สั่งให้จำเลยมอบทรัพย์ให้นายสมบูรณ์ นางสมบัติเสียนั้น หาเป็นเหตุจะลบล้างลักษณะของเอกสารให้กลับไม่เป็นพินัยกรรม์ได้ไม่
๒. ตามฎีกาข้อ ๒ ฟังว่าจำเลยได้รับฝากทรัพย์รายนี้จริง
๓. เห็นว่าจำเลยอยู่ในฐานรับฝากทรัพย์ของโจทก์ไว้เพื่อให้แก่บุตรโจทก์ เมื่อจำเลยได้มอบทรัพย์ให้แก่บุตรโจทก์ โจทก์รู้แล้วมิได้คัดค้าน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยมอบทรัพย์ให้แก่บุตรโจทก์ไปแล้ว จำเลยย่อมพ้นหน้าที่รับผิดชอบในทรัพย์ส่วนนี้โจทก์ก็สิ้นสิทธิที่จะเรียกทรัพย์ส่วนนี้คืนจากจำเลย ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก. อันดับ ๓-๔-๕-๗ หมาย ข. อันดับ ๕-๖ ให้โจทก์ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา

Share