คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า “ครอบครอง” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตาม ป.พ.พ. ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดอีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชัดลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา, 75 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 14, 15, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้สักในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูก ฐานร่วมกันทำไม้สักและฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูป จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี ริบของกลาง เนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับจำเลย จึงไม่อาจพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้สัก จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2545 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยทั้งสามถูกร้อยตำรวจเอกนรวีร์ (ยศในขณะนั้น) กับพวกจับกุมในบริเวณป่าขุนห้วยม่วง ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยแม่ท่าแพ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พร้อมยึดได้ไม้สักท่อนที่ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จำนวน 140 ท่อน ปริมาตรรวม 10.50 ลูกบาศก์เมตร มีด 2 เล่ม ตลับเมตร 1 อัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และเชือก 3 เส้น เป็นของกลาง คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชักลากไม้สักของกลางแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม้สักของกลางจึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด อีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชักลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share