คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12779/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจค้นอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้อยู่ในสถานที่ตรวจค้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และมีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่มีหมายจับของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 และมาตรา 92 (4) หรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710 บาท คิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1 จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้คืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวพัชรี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้แสดงหมายค้นและหมายจับก่อนเป็นการสอบสวนที่กระทำต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจค้นอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้น และหมายจับนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้อยู่ในสถานที่ตรวจค้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และมีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 1 ได้ โดยไม่มีหมายจับของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 และมาตรา 92 (4) หรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710 บาท ตามใบต่อคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมเอกสารหมาย จ.16 คิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1 จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้คืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่ ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนตามคำขอของโจทก์ได้อีก แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 177,290 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share