แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานได้เรียกให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมจากที่โจทก์เคยส่งพร้อมกับคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ถูกหักหรือเสียภาษีเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่โจทก์จึงต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรเมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์มิได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารต่ออธิบดีซึ่งตามข้อ 2 วรรคท้าย ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสามโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งคือวันที่ 9 สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบเอกสารครั้งสุดท้ายให้แก่เจ้าพนักงานเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานระงับการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันออกหมายเรียกถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จึงไม่ถูกต้องโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งคืนให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 8สิงหาคม 2536 ด้วย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยจากเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 1,391,979 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า แท้จริงพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ซึ่งโจทก์รับทราบและไม่โต้แย้ง สำหรับช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเนื่องจากนับแต่ที่จำเลยหมายเรียกให้โจทก์นำส่งเอกสารต่าง ๆ เพื่อทำการตรวจสอบการขอคืนภาษีของโจทก์ทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์ได้ผัดผ่อนไม่ยอมจัดส่งเอกสารมาให้ครบถ้วน ทั้งที่เจ้าพนักงานได้ให้เวลาแก่โจทก์นำส่งเป็นเวลานานแล้ว แสดงว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่จะไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยตลอด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับช่วงเวลาดังกล่าวตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ดอกเบี้ยจำนวน 1,202,164 บาท โจทก์คำนวณจากระยะเวลาดังกล่าวและจากต้นเงินภาษีที่ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับส่วนดอกเบี้ยจำนวน 189,815 บาท คำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฎว่าเป็นดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือนในช่วงเวลาใดหรือนับจากวันใดถึงวันใด จำเลยจึงไม่ทราบหรือเข้าใจสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในส่วนนี้ได้ คำฟ้องส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172และเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม แต่ในชั้นนี้จำเลยสันนิษฐานว่าเป็นระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามกฎหมายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีกล่าวคือในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 31สิงหาคม 2534 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 ระยะเวลาดังกล่าวโจทก์เองก็รับว่าจำเลยไม่ต้องคิดดอกเบี้ยให้ ดังจะเห็นได้จากคำฟ้องโจทก์ในข้อ 3 (ก) ซึ่งโจทก์บรรยายว่า “โดยจำเลยจะต้องคำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันถัดจากวันครบรอบระยะเวลา3 เดือน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามกฎหมายคือวันที่ 1 กันยายน 2534” และตามฟ้องโจทก์ในข้อ 3 (ข) ซึ่งโจทก์บรรยายว่า “จำเลยจะต้องคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 “ซึ่งจำเลยได้คำนวณดอกเบี้ยให้โดยเริ่มต้นจากระยะเวลาตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องแล้ว ระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นระยะเวลาที่โจทก์เองก็รับว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่จำเลยคิดจากโจทก์ก็เป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ยกคำฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจำนวน63,253.60 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ระยะเวลาที่เจ้าพนักงานระงับไม่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่17 กุมภาพันธ์ 2538 ถูกต้องแล้วนั้นเห็นว่า หลังจากโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพาทแล้วเจ้าพนักงานของจำเลยได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 21กรกฎาคม 2536 เพื่อตรวจสอบไต่สวนภาษีอากรของโจทก์โดยกำหนดให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานและส่งเอกสารหลักฐานในวันที่ 9สิงหาคม 2536 ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 358 ซึ่งถือได้ว่าเจ้าพนักงานได้เรียกให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมจากที่โจทก์เคยส่งพร้อมกับคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ถูกหักหรือเสียภาษีเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่ โจทก์จึงต้องนำเอกสารหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสาม ของกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้ส่งเอกสารหลักฐานของรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพาทแก่เจ้าพนักงานให้ครบถ้วนในวันนัด แต่ขอส่งในภายหลังตามคำให้การเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 355 ถึง 357 ถือว่าโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์มิได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารต่ออธิบดี ซึ่งตามข้อ 2 วรรคท้ายของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งคือวันที่ 9 สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบเอกสารครั้งสุดท้ายให้แก่เจ้าพนักงานเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานระงับการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันออกหมายเรียก ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จึงไม่ถูกต้องโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งคืนให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 8สิงหาคม 2536 ด้วย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร
พิพากษายืน