คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 308,147.20 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ที่ปลูกในป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 125,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างวานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ หากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินความเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำ ถือว่าฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 โดยร่วมกันเข้าไปแผ้วถาง ก่นสร้าง ไถ ทำลาย เผาป่าและยึดถือครอบครองป่าท่าเคย ป่าคลองไทร ป่ามะลวน และป่าบางงอน ในท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเนื้อที่ 74 ไร่ ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และได้ประกาศให้ประชาชนทราบแล้ว อันเป็นการทำให้เสียหายทำลายและเสื่อมเสียแก่สภาพป่าซึ่งมีต้นไม้ตามธรรมชาติต้นยูคาลิปตัสและต้นพยุงที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ปลูกสร้างและปลูกซ่อมแซมเพิ่มเติมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายคิดเป็นค่าชดเชยการปลูกสร้างและบำรุงรักษาสงวนป่าในอัตราไร่ละ 3,469 บาท รวม 74 ไร่ คิดเป็นเงิน 256,706 บาท และจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2531 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 51,341.20 บาท คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1489/2531 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแก่โจทก์เป็นเงิน 308,147.20 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 256,706 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิได้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่เป็นพื้นที่ซึ่งประชาชนประมาณ 100 หลังคาเรือน เข้าไปอยู่อาศัยทำกินและปลูกสวนยางพาราเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีมาแล้ว จนทางราชการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่เคยว่าจ้างหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการแทน ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินไร่ละ 300 บาท โจทก์เสียหายไม่เกิน 1,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 125,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 ส่วนฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ” เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ที่ปลูกในป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 125,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างวานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ หากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินความเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำถือว่าฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

Share