แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เครื่องพิมพ์ดีดชนิดกระเป๋าหิ้วราคา 2,700 บาท และเครื่องบวกเลขชนิดโยกด้วยมือราคา 4,800 บาท ไม่เป็น ‘ของมีค่าอื่น ๆ’ ตามความหมายของมาตรา 675 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้เดินทางนำมายังโรงแรมแล้วเกิดหายไปจากห้องพักเจ้าสำนักโรงแรมก็ต้องรับผิดชดใช้ราคา
ย่อยาว
คดีทั้ง 2 สำนวนนี้ศาลล่างทั้งสองได้รวมพิจารณาพิพากษามาด้วยกัน
โจทก์ทั้ง 2 สำนวนฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นใจความว่า จำเลยเป็นเจ้าสำนักโรงแรมชื่อว่า พ. วานิช 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2514 นายสุขสันต์ จารุทะวัย โจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ในสำนวนที่สอง ได้มาพักอาศัยอยู่ที่โรงแรม พ. วานิช 2 ในห้องหมายเลข 37 ครั้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2514 เวลากลางวัน ขณะที่นายสุขสันต์โจทก์ออกไปปฏิบัติงานได้มีคนร้ายเข้าไปในห้องหมายเลข 37 แล้วลักเอาเครื่องบวกเลขชนิดมือโยก ยี่ห้อฟาซิต 1 เครื่อง ราคา 4,500 บาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ในสำนวนที่สอง ซึ่งนายสุขสันต์โจทก์นำติดตัวไปใช้ทำงาน ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ไป และคนร้ายยังได้ลักเอาทรัพย์ส่วนตัวของนายสุขสันต์โจทก์ไปอีกด้วย คือ เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อโอลิมเปียแบบกระเป๋าหิ้ว 1 เครื่อง ราคา2,700 บาท วิทยุกระเป๋าหิ้ว 1 เครื่อง ราคา 250 บาท เสื้อกันหนาว 1 ตัว ราคา 140 บาท ในวันที่ 15 ธันวาคม 2514 นั้นเอง เมื่อนายสุขสันต์โจทก์กลับจากปฏิบัติงาน จึงพบว่าทรัพย์สินดังกล่าวแล้วหายไปจากในห้องพักหมายเลข 37 นายสุขสันต์โจทก์ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานของจำเลยทันที และได้นำความไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันเดียวกันนั้นด้วย ทรัพย์สินที่สูญหายไปนี้จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมย่อมต้องรับผิด โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยชดใช้ให้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,090 บาท แก่นายสุขสันต์โจทก์ และค่าเสียหายเป็นเงิน 4,500 บาทแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมายนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวนว่า ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องจะหายไปในระหว่างที่นายสุขสันต์โจทก์พักอยู่ในโรงแรมจำเลยหรือไม่ จำเลยไม่ทราบ หากหายไปจริง ของเหล่านั้นก็เป็นสิ่งของมีค่าโจทก์ชอบที่จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทราบ หรือฝากของมีค่าเหล่านั้นไว้ต่อจำเลยหรือต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยในขณะที่นายสุขสันต์โจทก์ไม่อยู่ จึงเป็นความผิดของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิดในการที่ของเหล่านั้นสูญหาย และถึงอย่างไรก็ตามจำเลยก็ควรรับผิดเพียง 500 บาทเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์สินตามจำนวนและราคาที่โจทก์ฟ้องได้สูญหายไปจากห้องพักของนายสุขสันต์โจทก์ในโรงแรมของจำเลยจริง ของมีค่าตามความมุ่งหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ต้องคำนึงถึงว่าในปัจจุบันอำนาจซื้อของเงินตกต่ำลงมากด้วย ควรถือตามระดับราคาปานกลางของราคาสินค้าซึ่งสูงขึ้น 50 เท่าเป็นเกณฑ์คำนวณ คือของมีค่าตามมาตรา 675 ควรถือว่าต้องมีราคาไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท ทรัพย์ของโจทก์ที่สูญหายไปมีราคาในขณะเกิดเหตุไม่ถึง 25,000 บาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าซึ่งโจทก์จะต้องฝากไว้แก่จำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของโจทก์สูญหายเต็มราคา พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,090 บาทแก่นายสุขสันต์โจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหาย 4,500 บาทแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์พร้อมทั้งให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินที่จะต้องใช้ให้แก่โจทก์แต่ละสำนวน นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์แต่ละสำนวนเสร็จ
จำเลยทั้ง 2 สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งมีจำนวนและราคาตามฟ้องได้หายไปจากห้องพักที่นายสุขสันต์พักในโรงแรมของจำเลย ทรัพย์สินของโจทก์ที่หายนั้นแม้จะมีราคามากก็ไม่ใช่ทรัพย์ประเภทเงินทองตรา ธนบัตร ฯลฯ หรือของมีค่าอื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 675 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเอาไปฝากไว้แก่เจ้าสำนักโรงแรมและได้บอกราคาแห่งของนั้นไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปตามฟ้อง พิพากษายืน
จำเลยทั้ง 2 สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นเห็นว่าไม่จำเป็นจึงให้งดเสีย คดีนี้จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นว่า ของมีค่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 นั้น ต้องถือเอาราคา 500 บาทเป็นเกณฑ์ คือของที่มีราคาเกินกว่า 500 บาทต้องถือว่าเป็นของมีค่า ของมีราคาต่ำกว่า 500 บาทเป็นของไม่มีค่า และ”ของมีค่าอื่น ๆ” หาใช่จะต้องมีลักษณะหรือประเภททำนองเดียวกันกับทรัพย์ที่มีระบุไว้แล้วในมาตรา 675 ไม่ ฉะนั้นการที่โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวหรือฝากของตามฟ้องไว้แก่จำเลย จึงเป็นความผิดของโจทก์เองทั้งสิ่งของตามฟ้องของโจทก์ได้หายไปในคราวเดียวกันทั้งหมด จำเลยจึงควรต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 500 บาทเท่านั้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าสำนักโรงแรมนั้นกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะในหมวดที่ 3 ของลักษณะที่ 10 ว่าด้วยการฝากทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาตามบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบของเจ้าสำนักโรงแรมนั้นกฎหมายกำหนดมาตรฐานไว้เป็นพิเศษ ในฐานะที่ตนมีหน้าที่ให้บริการต่อประชาชนซึ่งมาเป็นแขกอาศัยในสถานที่ของตน มิใช่เป็นการให้เช่าแต่สถานที่อย่างเดียวเท่านั้นดังในเรื่องเช่าทรัพย์ เจ้าสำนักโรงแรมจึงมีหน้าที่จะต้องให้ความอารักขาแก่สิ่งของทั่ว ๆ ไปของคนเดินทางหรือแขกอาศัยด้วย แต่อย่างไรก็ดี ความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมนี้ตามมาตรา 675 ก็ได้กำหนดขอบเขตในเรื่องชนิดของสิ่งของและราคาของสิ่งของไว้เป็นข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าสำนักโรงแรมด้วย ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงความรับผิดตามมาตรา 675 วรรค 2 อันเป็นข้อยกเว้นนี้ในส่วนที่เป็นปัญหาที่จำเลยยกขึ้นโต้แย้งโดยละเอียดแล้ว กล่าวคือคำว่า “ของมีค่าอื่น ๆ” นั้นหมายความถึงอะไรบ้าง เห็นว่าทรัพย์ต่าง ๆ ตามที่มีระบุไว้คือเงินทองตราตลอดไปจนถึงอัญมณีนั้นย่อมนำมาเทียบเคียงประกอบในการพิจารณาว่าของใดเป็นของมีค่าอื่น ๆ หรือไม่ ได้อย่างหนึ่งความหมายของคำว่าของมีค่ากับราคาของ ๆ ต่าง ๆ นั้นแม้จะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ แต่ก็หาได้หมายความเป็นอย่างเดียวกันไม่ ฉะนั้นจะถือว่าของมีราคาเกินกว่า 500 บาท จะต้องถือว่าเป็นของมีค่าไปทั้งหมดดังที่จำเลยโต้แย้งมาหาได้ไม่ เสื้อชั้นนอกของผู้เดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งจำเป็นต้องใช้ในระหว่างเดินทางก็อาจมีราคาเกินกว่า 500 บาทได้ แต่เสื้อชั้นนอกนั้นโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ดีหรือเมื่อเทียบกับลักษณะของสิ่งของต่าง ๆ ดังที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 675 วรรค 2 ก็ดี ย่อมจะเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะห่างไกลกันมาก อนึ่ง ถ้าหากเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งจะให้ถือว่าของใดมีราคาเกินกว่า 500 บาทต้องถือว่าเป็นของมีค่าแล้ว ก็น่าจะไม่ต้องบัญญัติไว้ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 675 วรรค 2 เช่นนี้ เพราะย่อมอาจจะบัญญัติได้ง่าย ๆ แต่เพียงว่า “ความรับผิดนี้ท่านจำกัดไว้เพียงห้าร้อยบาท ฯลฯ” เท่านั้นก็ย่อมจะเป็นการเพียงพอแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคำว่า “ของมีค่าอื่น ๆ” นี้จะต้องพิจารณาโดยดูสภาพของ ๆ นั้นอันแท้จริงเป็นราย ๆ ไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะพึงสันนิษฐานได้จากมาตรา 674 และ 675
สำหรับทรัพย์ที่พิพาทในคดีนี้ที่มีราคาต่ำกว่า 500 บาทอยู่แล้วนั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่าไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งของที่มีค่าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรเจ้าสำนักโรงแรมก็ต้องรับผิดชดใช้ในวงเงินไม่เกิน 500 บาทอยู่แล้ว คงมีทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่า 500 บาทในคดีนี้อยู่ 2 สิ่ง คือ เครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องบวกเลขที่จะวินิจฉัยต่อไป
เครื่องพิมพ์ดีดชนิดกระเป๋าหิ้วที่พิพาทในคดีนี้ เห็นได้ว่า เป็นของสามัญที่ผู้เดินทางในธุรกิจทั่ว ๆ ไปก็ย่อมอาจจะมีไว้เพื่อใช้ในระหว่างเดินทางตามปกติได้ไม่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับสิ่งของจำพวกเงินทองตราอัญมณี ฯลฯ เลย และไม่มีลักษณะที่จะส่อให้เห็นว่าเป็นของมีค่าเป็นพิเศษแต่อย่างใด ทั้งมีราคาเพียง 2,700 บาท เท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่ายังถือไม่ได้ว่า พิมพ์ดีดที่พิพาทในคดีนี้เป็น “ของมีค่าอื่น ๆ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรค 2
สำหรับเครื่องบวกเลขชนิดโยกด้วยมือนั้นก็ปรากฏว่ามีราคาเพียง 4,500 บาทเท่านั้น ไม่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับของมีค่าดังที่มีระบุไว้ในมาตรา 675 วรรค 2 เช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ150 บาทแทนโจทก์ด้วย