คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในศาลชั้นต้นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้ว เมื่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่อ้างได้ การไต่สวนมูลฟ้องต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนย่อมมีอำนาจสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องได้ หาเกี่ยวกับอำนาจบังคับบัญชาไม่
ตามกฎ ก.พ. จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ในกรณีโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง นั้น การส่งเรื่องกล่าวหาเป็นหน้าที่ของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลย และการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเท่าที่ปรากฏให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเท่านั้นมิได้กำหนดให้แจ้งโดยละเอียด เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาสรุปข้อเท็จจริง พร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อตามฟ้องระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการสอบสวน *จึงไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยได้
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสอบสวนพยานและบันทึกเสนอข้อความบิดเบือนความจริง และบันทึกข้อความนอกสำนวนนั้น เมื่อฟ้องมิได้บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร บิดเบือนอย่างไร ข้อความใดนอกสำนวน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยไม่รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อสอบสวนเอาผิดแก่ผู้กระทำผิดรายอื่น และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยละเว้นไม่สอบสวนบุคคลดังกล่าว โจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง
*และจำเลยเสนอสำนวนการสอบสวนตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกรรมการร่วมทำการสอบสวน นายประมวลและโจทก์ในกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นประธานกรรมการ จำเลยได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐาน แล้วสรุปเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติของทางราชการหลายประการ ส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นอนุกรรมการคนหนึ่งใน อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาสำนวนการสอบสวนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ทำขึ้น จำเลยที่ ๔ ได้บันทึกความเห็นบิดเบือนข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวน เป็นเหตุให้โจทก์ถูกไล่ออกจากราชการและได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๖, ๙๑, ๑๕๗, ๑๖๑, ๑๖๒, ๑๖๕, ๑๗๙, ๑๘๔,๑๘๙, ๒๐๐
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วมีคำสั่งให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกว่า ในศาลชั้นต้นเมื่อรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้ว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งให้นัดไต่สวนและงดการไต่สวนคดีนี้เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นศาลเดียวกันและอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๒ เมื่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่อ้างได้ การจะทำการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนย่อมมีอำนาจสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องได้หาเกี่ยวกับอำนาจบังคับบัญชาไม่
ปัญหาต่อไปที่ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มิได้รับเรื่องกล่าวหาจากผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน การสอบสวนเป็นการชอบหรือไม่นั้น เมื่อตามฟ้องบรรยายว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกรรมการสอบสวนนายประมวลและโจทก์ และตามฟ้องระบุว่าจำเลยได้ทำการสอบสวนโจทก์แล้ว เป็นที่เห็นได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนได้ทราบเรื่องกล่าวหาแล้ว ส่วนการส่งเรื่องกล่าวหาเป็นหน้าที่ของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ข้อ ๕ มิใช่หน้าที่ของจำเลย และไม่ปรากฏตามกฎ ก.พ. ดังกล่าวว่า ถ้ามิได้รับเรื่องกล่าวหาจะสอบสวนไปไม่ได้ในปัญหาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ สอบสวนโดยไม่ได้แจ้งข้อหาโดยละเอียดแก่โจทก์ การสอบสวนชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามกฎ ก.พ. ดังกล่าว ข้อ ๑๓ ระบุเพียงว่า ในการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเท่าที่ปรากฏให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเท่านั้นมิได้กำหนดให้แจ้งพฤติการณ์โดยละเอียด ต้องถือว่าการสอบสวนได้กระทำโดยชอบ ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อสอบสวนแล้วจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เสนอการสอบสวนตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มิได้เสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่าตามกฎ ก.พ. ดังกล่าว ข้อ ๒๓ มีข้อความว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาสรุปข้อเท็จจริงพร้อมทั้งความเห็นเสนอสำนวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเมื่อตามฟ้องระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้เป็นกรรมการสอบสวน การที่จำเลยเสนอสำนวนการสอบสวนตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงชอบแล้ว
ในปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่าข้อหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ สอบสวนพยานบิดเบือนความจริง จำเลยที่ ๔ บันทึกเสนอข้อความบิดเบือนความจริงและบันทึกข้อความนอกสำนวนนั้น คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร บิดเบือนอย่างไร และข้อความใดที่ว่านอกสำนวน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕)
ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ไม่รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อสอบสวนเอาความผิดต่อนายสงบและนายสมพงษ์ โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่นั้น เห็นว่าในกรณีนี้โจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share