คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างสะพานกับผู้คัดค้าน ในการก่อสร้างผู้ร้องอ้างว่าการที่วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านสั่งเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในสัญญาทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผู้ว่าการของผู้คัดค้านชี้ขาดว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ร้องขอให้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาตามสัญญารับเหมาก่อสร้างแต่อนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้เมื่อตามสัญญาตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระบุไว้ในข้อ 67 วรรคสองว่า “นอกเสียจากว่าทั้งสองฝ่าย จะเห็นชอบกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียว ข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทจะต้องนำเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ 2 คน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะได้แต่งตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว และอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งจะเลือกผู้ชี้ขาด หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนได้ภายใน30 วัน หรือหากอนุญาโตตุลาการทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน30 วัน นับจากวันที่ตนได้รับแต่งตั้งตกลงเลือกผู้ชี้ขาด ให้นำข้อ 71.2 มาใช้บังคับ” และข้อ 71.2 มีความว่า “ศาลไทยจะมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการรับฟังและตัดสินการดำเนินและกระบวนพิจารณา(นอกเหนือไปจากการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 67) ที่เกิดขึ้นจากสัญญาและผู้รับเหมายอมรับเขตอำนาจของศาลไทย” ดังนี้ เมื่ออนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน ดังกล่าว ก็ต้องปฎิบัติตามข้อ 67 ที่ให้นำข้อ 71.2มาใช้บังคับ กล่าวคือต้องนำข้อพิพาทมาสู่ศาลเท่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 13,14 และ 15 อีกหาได้ไม่เพราะขัดกับข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้เข้าทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างสะพานแขวนพระราม 9 กับผู้คัดค้านตามสัญญาจ้างเหมาลงวันที่ 6 กันยายน 2527 ในราคารับเหมาก่อสร้างทั้งสิ้น924,579,000 บาท เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2527 ผู้ร้องทั้งห้าได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานตามกำหนดสัญญาโดยก่อสร้างเสาเข็มทดลองซึ่งเป็นเสาเข็มเจาะที่ฝั่งกรุงเทพฯ ในการก่อสร้างเสาเข็มเจาะดังกล่าวตามสัญญามิได้ระบุไว้ให้เจาะดินด้วยวิธีใดผู้ร้องทั้งห้าจึงเสนอวิธีเจาะดินแบบ RCD วิธีดังกล่าวได้รับอนุมัติจากวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านแล้ว ผลปรากฏว่าเสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 1,200 ตัน วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านอ้างว่าการก่อสร้างเสาเข็มของผู้ร้องทั้งห้าไม่ถูกต้องทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักของเสาเข็มที่กดลงมาได้และมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งห้าเจาะเสาเข็มโดยวิธี A/B เพื่อสร้างเสาเข็มทดลองทางด้านฝั่งธนบุรีอีกต้นหนึ่ง ผลทดลองปรากฎว่าเสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มมากขึ้นเป็นที่พอใจของวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้าน แต่ยังมีทรายใต้เสาเข็มหลวม วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านได้สั่งให้อัดน้ำปูนซีเมนต์ใต้เสาเข็มดังกล่าว เพื่อให้ทรายที่หลวงใต้เสาเข็มแต่ละต้นมีความแน่นเท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน ผู้ร้องทั้งห้าได้ก่อสร้างเสาเข็มเจาะโดยวิธี A/B และอัดน้ำปูนซิเมนต์ใต้เสาเข็มด้านล่างรวม 172 ต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมา นอกจากนี้วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านยังได้สั่งเปลี่ยนแปลงงานสร้างเสาเข็มใต้ฐานสะพานฐานสะพาน จากเสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มตอก รวม 108 ต้น ทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นงานที่เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้ร้องทั้งห้าขอเสนอตั้งนายพนัส หรือ นายสุรพล คนใดคนหนึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดตามสัญญารับเหมาก่อสร้างข้อ 67 ข้อ 71.2 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 221.
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ หากศาลเห็นว่าผู้ร้องทั้งห้ามีอำนาจขอให้ศาลตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ ผู้คัดค้านขอให้ศาลตั้งนายวิกรมเป็นอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2527 ผู้ร้องทั้งห้าทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างสะพานแขวนพระราม 9 กับผู้คัดค้านในการก่อสร้างเสาเข็มทดลองผู้ร้องทั้งห้าได้ทำการก่อสร้างเสาเข็มเจาะ ผลปรากฏว่าเสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 1,200 ตัน วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องทั้งห้าก่อสร้างเสาเข็มไม่ถูกต้องและสั่งให้ผู้ร้องทั้งห้าก่อสร้างเสาเข็มเจาะทดลองใหม่ทางด้านฝั่งธนบุรี ผลการทดลองปรากฏว่าเสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มมากขึ้น เป็นที่พอใจของวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านแต่ยังมีทรายใต้เสาเข็มหลวม วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านได้สั่งให้ผู้ร้องทั้งห้าอัดน้ำปูนซิเมนต์ใต้เสาเข็มด้านล่าง เพื่อให้สภาพทรายใต้เสาเข็มแต่ละต้นมีความแน่นเท่ากันหรือเท่าเทียมกันผู้ร้องทั้งห้าต้องสร้างเสาเข็มเจาะโดยวิธี A/B และอัดน้ำปูนซิเมนต์ใต้เสาเข็มด้านล่างรวม 172 ตัน นอกจากนี้วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านยังสั่งเปลี่ยนแปลงงานสร้างเสาเข็มใต้ฐานสะพานจากเสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มตอกรวม 108 ตัน ผู้ร้องทั้งห้าอ้างว่าการที่วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านสั่งเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวทำให้ผู้ร้องทั้งห้าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 167,686,580 บาทผู้ร้องทั้งห้าได้เรียกร้องให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มดังกล่าว ผู้คัดค้านส่งเรื่องให้วิศวกรที่ปรึกษาพิจารณาวิศวกรที่ปรึกษาพิจารณาแล้วปฎิเสธการชดใช้เงิน ผู้ร้องทั้งห้าจึงเสนอให้ผู้ว่าการของผู้คัดค้านเป็นผู้ให้ความเห็นชี้ขาด ต่อมาผู้ว่าการของผู้คัดค้านได้มีความเห็นชี้ขาดว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมผู้ร้องทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดดังกล่าว จึงขอให้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ 67 โดยผู้ร้องทั้งห้าได้แต่งตั้งให้นายเอนก เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องทั้งห้าส่วนผู้คัดค้านได้แต่งตั้งให้นายจุลสิงห์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน แต่อนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่าย ผู้ร้องทั้งห้าจึงมายื่นคำร้องคดีนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดให้
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่า ผู้ร้องทั้งห้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้หรือไม่ ปรากฎตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ 67 วรรคสอง ว่า “นอกเสียจากว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นชอบกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทจะต้องนำเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ 2 คนซึ่งแต่ละฝ่าย จะได้แต่งตั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว และอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งจะเลือกผู้ชี้ขาด หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนได้ภายใน 30 วัน หรือหากอนุญาโตตุลาการทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ตนได้รับแต่งตั้งตกลงเลือกผู้ชี้ขาด ให้นำข้อ 71.2 มาใช้บังคับ” สำหรับสัญญาข้อ 71.2 มีข้อความว่า “ศาลไทยจะมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการรับฟังและตัดสินการดำเนินและกระบวนพิจารณา (นอกเหนือไปจากอนุญาโตตุลาการตามข้อ 67) ที่เกิดขึ้นจากสัญญาและผู้รับเหมายอมรับเขตอำนาจของศาลไทย” ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาได้ตกลงกันว่า นอกจากการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 67 แล้วคู่สัญญายอมให้ศาลไทยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าอนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่าย ก็ต้องปฎิบัติตามสัญญาข้อ 67 ที่ให้นำข้อ 71.2 มาใช้บังคับ กล่าวคือ ต้องนำข้อพิพาทมาสู่ศาลเท่านั้น ผู้ร้องทั้งห้าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 13, 14 และ 15 อีกหาได้ไม่ เพราะขัดกับข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว
พิพากษายืน

Share