แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุที่ทางธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของลูกหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันไว้แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คือผู้ที่หักเอาเงินของโจทก์ไป โจทก์จึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อโกงโจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนเมื่อโจทก์แจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งจะเห็นว่าไม่เป็นความผิดทางอาญาจึงบันทึกการรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไปได้โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96แล้วจึงขาดอายุความ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 มกราคม 2536 จนถึงวันที่ 22เมษายน 2537 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่ามีโครงการค้าที่ดินของเพื่อนจำเลยที่ 2 เป็นโครงการเกี่ยวกับสวนเกษตรเนื้อที่ดินแบ่งเป็นแปลงย่อย แปลงละไม่เกิน 2 ไร่ รวม 13 แปลง มีเนื้อที่รวม 23 ไร่ 69 ตารางวา เป็นโครงการที่ทำแล้วมีกำไรมาก โจทก์หลงเชื่อจึงซื้อที่ดินในโครงการดังกล่าวทั้ง 13 แปลงที่ดินตั้งอยู่ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก. โจทก์ซื้อที่ดินทั้งหมดโดยการแนะนำของจำเลยทั้งสอง แต่ยังไม่โอนเป็นชื่อของโจทก์ต่อมาจำเลยทั้งสองได้เป็นผู้จัดการหาผู้ซื้อซึ่งเป็นพวกของจำเลยทั้งสองมาทำการซื้อที่ดินของโจทก์ โดยในเดือนกรกฎาคม 2536จำเลยทั้งสองนำนายสมเดช ทัดกลิ่น นายสุชัย สุจินตบัณฑิต นางสาวยุภา ถาวรวงศ์นายจำนงค์ นิลโขง นายอมรินทร์ มหาเทพ นางสาวปาริชาติ ตันมณี นายธงชัย เทพวงศ์นายพรพัก จวนชัยภูมิ นายดาบตำรวจธันยบูรณ์ ตันมณี นายเจษฎา วีระสุวรรณนายจรัญ ทัดกลิ่น นางสาววัลย์ ตันมณี และนายเกรียงไกร มหาเทพ รวม 13 คน มาซื้อที่ดินของโจทก์โดยได้จดทะเบียนขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทั้ง 13 ราย และจำเลยทั้งสองให้ผู้ซื้อทั้ง 13 ราย ทยอยกันไปจดทะเบียนจำนองที่ดินที่รับโอนโดยทำสัญญากู้กับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองหลอกลวงและชักนำโจทก์ให้ทำนิติกรรมสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากและนิติกรรมสัญญาค้ำประกันหนี้ของผู้ซื้อโดยมิได้แจ้งรายละเอียดแก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อว่าโครงการที่โจทก์ซื้อมาจะมีผลกำไรมาก โจทก์จึงทำนิติกรรมตามที่จำเลยทั้งสองแนะนำ โดยโจทก์ไม่ทราบว่าจะมีผลผูกพันอย่างไร เนื่องจากโจทก์ไม่รู้หนังสืออ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ และขณะทำนิติกรรมจำเลยทั้งสองได้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษพิมพ์ของจำเลยที่ 1 จำนวนหลายฉบับโดยมิได้กรอกข้อความและรายละเอียดลงไปโจทก์หลงเชื่อจำเลยทั้งสองเพราะเป็นบุคคลที่มีฐานะเป็นที่รู้จักและเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2537 จำเลยทั้งสองมีหนังสือถึงโจทก์ว่าได้หักบัญชีเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม2537 ชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนพร้อมดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ผู้ซื้อทั้งหมด รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองหักปิดบัญชีเป็นเงิน 12,685,556.25 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้โจทก์ยังเป็นหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝาก รวมต้นเงินและดอกเบี้ยอีกจำนวน 1,942,636.14 บาท และ 6,804,992.67 บาท เป็นการสมคบกับผู้ซื้อทั้ง 13 ราย ทำการฉ้อโกงโจทก์โดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้นจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ตามที่หักบัญชีเงินฝากธนาคารและได้ไปซึ่งสิทธิเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากอีกจำนวน1,942,636.14 บาท และ 6,804,992.67 บาท โจทก์ทราบเหตุคดีนี้เมื่อวันที่ 22เมษายน 2537 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 84, 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ที่โจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น โจทก์ยังไม่รู้เรื่องความผิด เพราะโจทก์มีเอกสารคือสำเนาบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.43 เพียงอย่างเดียวไปแจ้งความทั้งพนักงานสอบสวนก็แจ้งว่ากรณีของโจทก์เป็นเรื่องทางแพ่ง แสดงว่าพนักงานสอบสวนเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดอาญาเนื่องจากยังไม่รู้ข้อเท็จจริงละเอียดว่าเป็นอย่างไรมีการฉ้อโกงกันอย่างไร เมื่อพนักงานสอบสวนยังไม่รู้ว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาแล้วโจทก์จะรู้เรื่องความผิดได้อย่างไร เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.63 (ล.4) ได้มีรายละเอียดที่โจทก์แจ้งต่อพนักงานสอบสวนถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์เห็นว่าทางธนาคารจำเลยที่ 1 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุที่ทางธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของลูกหนี้ที่โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าธนาคารจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คือผู้ที่หักเอาเงินของโจทก์ไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ โจทก์จึงไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งนายพรชัย ภู่ขาว พยานโจทก์ผู้แนะนำให้โจทก์ไปแจ้งความก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ตั้งใจว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาฉ้อโกง จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อโกงโจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ส่วนเมื่อโจทก์แจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งจะเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการเรียกร้องทางแพ่ง จึงเพียงบันทึกการรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐานนั้นก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวไปได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน