แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม้สักแปรรูปที่เจ้าพนักงานยึดเป็นของกลางในคดีนี้มีจำนวนเพียง 1 แผ่น ปริมาตร 0.268 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนักประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 58 และเนื่องจากการรอการลงโทษด้วยเหตุสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์ตามรูปคดีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเช่นกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอการลงโทษจำคุกดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ป.อ. มาตรา 89
ความผิดฐานทำไม้เป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ อันเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนักตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 14, 31 (ที่ถูกมาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคสอง (1), (3)), 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 11, 48, 73 (ที่ถูกมาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1)), 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าไม้สักและต้นน้ำ (ที่ถูกเรียกความผิดฐานร่วมกันทำไม้) จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้สัก จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักแปรรูป จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ไม้สักแปรรูปที่เจ้าพนักงานยึดเป็นของกลางในคดีนี้มีจำนวนเพียง 1 แผ่น ปริมาตร 0.268 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเนื่องจากการรอการลงโทษด้วยเหตุสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์ตามรูปคดีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเช่นกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอการลงโทษจำคุกดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89 และเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นชาวเขามีฐานะยากจน ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องขังในระหว่างการพิจารณาคดีนานพอสมควรที่จะทำให้หลาบจำแล้ว จึงไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 อีก คงคุมความประพฤติเฉพาะจำเลยที่ 1 เพื่อให้หลาบจำ
อนึ่ง ความผิดฐานทำไม้เป็นความผิดทั้งตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคสอง (1), (3) อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง (1) และปัญหาการปรับบทดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยที่ 1 ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจการบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5.