คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือแสดงความยินยอมเป็นผู้ควบคุมงานเจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารได้โดยระบุว่ามีจำเลยทั้งสองเป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องไปควบคุมการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ไปควบคุมการก่อสร้างจนเป็นเหตุให้มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจะถือว่าการก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ แต่ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองตามมาตรา31 วรรคสองตอนแรก ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดฐานจัดให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังฟ้อง ตามหนังสือขอก่อสร้างอาคาร หนังสือแสดงความยินยอมเป็นผู้ควบคุมงานของจำเลยทั้งสองและใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารระบุว่าเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์-พักอาศัยและอาคารที่เกิดเหตุเป็นตึกแถวสามชั้นซึ่งปกติใช้เพื่อการพาณิชยกรรมได้ ถือได้ว่าอาคารที่เกิดเหตุเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2529 ถึงวันที่16 มกราคม 2530 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ควบคุมตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่นายวิบูลย์ กิจนันทวิวัฒน์ ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมในซอยลาดหญ้า 2 ถนนลาดหญ้า แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานครและอยู่ภายในเขตควบคุมการก่อสร้างได้ร่วมกันจัดให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต กล่าวคือตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้สร้างตึกแถวสามชั้น จำนวน 6 ห้องได้สร้างจำนวน 7 ห้อง โดยสร้างเพิ่ม 1 ห้อง และตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้สร้างตึกแถวสามชั้น จำนวน 13 ห้อง ได้สร้างจำนวน15 ห้อง โดยสร้างเพิ่ม 2 ห้องเหตุเกิดที่แขวงคลองสาน เขตคลองสานกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 2, 4, 31, 65, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 4, 5 พระราชกฤษำีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2479 ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ใช้บังคับพ.ศ. 2520 มาตรา 3
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 65, 70 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดฐานให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือแสดงความยินยอมเป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องไปควบคุมการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและเมื่อพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา31 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดจัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ฯลฯ” และวรรคสองที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น” แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ต้องไปควบคุมการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ไปควบคุมการก่อสร้าง จนเป็นเหตุให้มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จะถือว่าการก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองตามมาตรา31 วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ แต่ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองตามมาตรา 31 วรรคสองตอนแรก คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดฐานจัดให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจริงดังฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะวินิจแัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่วินิจฉัยแล้วข้างต้นเป็นการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือขอก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.5หนังสือแสดงความยินยอมเป็นผู้ควบคุมงานของจำเลยทั้งสองเอกสารหมายจ.6 จ.7 และใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์-พักอาศัย และอาคารที่เกิดเหตุเป็นตึกแถวสามชั้นซึ่งปกติใช้เพื่อการพาณิชยกรรมได้ ถือได้ว่าอาคารที่เกิดเหตุเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังฟ้อง…”
พิพากษายืน.

Share