แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปรากฏว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 149/2517 โดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยร้องเท็จขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 433/2516 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทของจำเลยในคดีนั้นเสีย และให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147, 148 คดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ โดยอ้างเหตุผลอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน และขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่พิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ดังนี้ เมื่อคดีหมายเลขแดงที่ 149/2517 นั้นถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่า เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 433/2516 แล้ว โจทก์จะนำคดีซึ่งเคยถูกยกฟ้องด้วยเหตุฟ้องซ้ำมารื้อร้องฟ้องอีกหาได้ไม่ เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๑๒ ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๔/๒๕๑๒ ซึ่งถึงที่สุดในขั้นฎีกา เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๖ จำเลยนำความเท็จไปร้องต่อศาลจังหวัดชลบุรี โดยทำเป็นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวบางส่วน ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๑๐ ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ขอให้ศาลจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ในวันไต่สวน จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความเท็จประกอบคำร้องดังกล่าว ศาลจังหวัดชลบุรีหลงเชื่อ จึงมีคำสั่งว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ ต่อมาจำเลยโอนใส่ชื่อจำเลยลงในโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย ต้องเสียที่ดินดังกล่าวไป คิดเป็นราคาประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดเลขที่ ๗๑๒ ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี แล้วให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง จำเลยได้มาโดนคำสั่งศาลตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ และเจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เพราะมีประเด็นอย่างเดียวกันคือ ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย และศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย
ชั้นชี้สองสถาน ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ และคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ ของศาลจังหวัดชลบุรี โดยกล่าวฟ้องว่า จำเลยร้องเท็จขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ ความจริงจำเลยไม่ได้ครอบครองที่พิพาท โจทก์คัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่จำเลยขอแก้ชื่อในโฉนดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทของจำเลยในคดีนั้นเสีย และให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยไม่ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗, ๑๔๘ คดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่ โดยอ้างเหตุผลอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนว่าจำเลยนำความเท็จไปร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ ต่อมาจำเลยโอนใส่ชื่อจำเลยลงในโฉนดเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่พิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ จำเลยให้การตัดฟ้องโจทก์ว่า เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ ดังกล่าวและคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำคู่ความที่คู่ความยื่นต่อศาลแล้วฟัง คำแถลงที่คู่ความแถลงทั้งปวงแถลงเอง หรือแถลงโดยตอบคำถามของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้เคยมีการฟ้องคดีกันมาแล้วในประเด็นเดียวกันนี้ ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ มาผูกรวมไว้กับคดีนี้แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งปรากฏว่าไปผูกอยู่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๕๓๑/๒๕๑๗ ของศาลฎีกา (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๘๑๕/๒๕๑๗ ของศาลจังหวัดชลบุรี) จึงไม่จำเป็นจะต้องมีการระบุอ้างมาเป็นพยานในชั้นชี้สองสถาน และเห็นว่าคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗, ๑๔๘ เท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนนั่นเอง อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้นแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกากลับนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก แม้คำฟ้องคดีเรื่องหลังนี้โจทก์กล่าวอ้างด้วยว่า โจทก์ได้รับความเสียหาย ก็เป็นผลจากเหตุอันเดียวกันกับที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนนั่นเอง เห็นว่าเมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๙/๒๕๑๗ นั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ด้วยเหตุผลว่า เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ ของศาลจังหวัดชลบุรีแล้ว โจทก์จะนำคดีซึ่งเคยถูกยกฟ้องด้วยเหตุฟ้องซ้ำมารื้อร้องฟ้องอีกหาได้ไม่ เป็นการต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ คดีไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๓/๒๕๑๖ ด้วยหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นด่วนชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ยังมิชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์