แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การสู้คดีของจำเลยได้ตั้งประเด็นข้อต่อสู้ไว้ว่า โฉนดที่ 2884 ของโจทก์ออกทับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของมาก่อน โฉนดที่ 2884 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ขอออกโฉนดจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดนั้น ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโฉนดที่ 2884 ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการนอกประเด็น
ผู้โอนขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของผู้อื่นและเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้โดยไม่มีอำนาจโฉนดที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้โอนจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ การที่ผู้โอนได้โอนโฉนดดังกล่าวให้ผู้อื่นต่อไปจึงเป็นการโอนสิ่งซึ่งตนไม่มีกรรมสิทธิ์ และหาก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับโอนไม่ (อ้างฎีกาที่ 897/2477)
เมื่อโฉนดซึ่งเป็นหลักฐานทางทะเบียนออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ได้กรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรค 2 มาใช้ยันแก่เจ้าของที่ดินมาแต่ดั้งเดิมไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้รวมกันมา
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท โดยโจทก์ซื้อมาและได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยได้เข้ามาปลูกบ้านในที่โจทก์คนละหลังและทำนาในที่โจทก์คนละตอน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและออกไปจากที่ดินโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลบังคับ
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรก
ในสำนวนแรก จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่าที่พิพาทนายชื่นเกิดบัว ปู่ของนางแฉ่งภริยาจำเลยยกให้ จำเลยได้ครอบครองมา ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการครอบครองแล้ว
จำเลยที่ ๓ ต่อสู้ว่า ที่พิพาทสามีจำเลยซื้อจากนายสิน เกิดบัว ได้ครอบครองมา ได้เสียเงินบำรุงท้องที่และแจ้งการครอบครองแล้ว
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ต่อสู้ว่านายชุ่ม เกิดบัว ได้ยกที่พิพาทให้บิดาจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ได้ครอบครองมาได้ เสียภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการครอบครองแล้ว จำเลยที่ ๕ เป็นบุตรจำเลยที่ ๔
ในสำนวนหลัง จำเลยที่ ๑ และนางทองหล่อจำเลยร่วมต่อสู้ว่า นายชุ่มได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง ได้ครอบครองเสียเงินบำรุงท้องที่มา และแจ้งการครอบครองแล้ว
จำเลยที่ ๒ และนางฉ่างนางสังวาลย์ พินหอม จำเลยร่วมต่อสู้ว่าจำเลยร่วมซื้อที่พิพาทจากนายถึก จำเลยที่ ๒ เช่าจากจำเลยร่วม จำเลยได้ครอบครองและได้จดทะเบียนสิทธิการครอบครองแล้ว
นอกจากนี้จำเลยทั้งสองสำนวนต่อสู้ว่า นายสกล สามเสน ได้ขอรังวัดออกโฉนดทับที่ที่จำเลยและบุคคลอื่นครอบครองอยู่ และได้โอนเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นต่อมาโดยไม่สุจริต คณะกรรมการสำรวจออกโฉนดที่ดินได้มีมติให้เพิกถอนโฉนด และออกโฉนดใหม่ให้จำเลย โจทก์ทราบเรื่องดีอยู่แล้วและตัดฟ้องว่าโจทก์รับโอนมาโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่พิพาทจำเลยมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อน นายสกลขอออกโฉนดทับที่ดินของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โฉนดนั้นจึงเป็นโมฆะ ผู้รับโอนโฉนดนั้นต่อไป จึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์รู้ดีในขณะซื้อว่าจำเลยทุกคนได้ครอบครองที่ดินพิพาทมากว่า ๑๐ ปี จึงอ้างไม่ได้ว่าซื้อโดยสุจริต จำเลยทุกคนมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อน แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า นายสกล สามเสน ได้ขอออกโฉนดทับที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ที่โจทก์ฎีกาว่าโฉนดของโจทก์ไม่เป็นโมฆะ จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอให้ทำลายโฉนด แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโฉนดของโจทก์เป็นโมฆะ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น เห็นว่า คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยได้ตั้งประเด็นข้อต่อสู้ไว้ว่า โฉนดที่ ๒๘๘๔ ของโจทก์ออกทับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของมาก่อน โฉนดที่ ๒๘๘๔ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ขอออกโฉนดจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดนั้น ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โฉนดที่ ๒๘๘๔ ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการนอกประเด็น นายสกล สามเสน ขอออกโฉนดทับที่ดินของจำเลย และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้โดยไม่มีอำนาจ โฉนดที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ ดังนัยฎีกาที่ ๘๙๗/๒๔๗๗ การที่นายสกล สามเสน ได้โอนโฉนดให้ผู้อื่นต่อไป จึงเป็นการโอนสิ่งซึ่งตนไม่มีกรรมสิทธิ์ และหาก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับโอนไม่ และจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ มาใช้ยันแก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่พิพาทแต่ดั้งเดิมไม่ได้ เพราะโฉนดซึ่งเป็นหลักฐานทางทะเบียนออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้รับโอนต่อจากนายสกล สามเสน คนใดคนหนึ่งได้รับโอนมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนบ้างหรือไม่
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.