คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การลักลอบขนน้ำมันออกจากสถานที่เก็บซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ต่อเนื่องกับการลักลอบขนน้ำมันออกนอกประเทศไทย เมื่อโจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นความผิดสองสำนวน และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนอีกสำนวนหนึ่งคือฐานนำน้ำมันออกนอกประเทศ ซึ่งตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าการกระทำทั้งหลายของจำเลยตั้งแต่เริ่มยักย้ายก็ด้วยเจตนาอันเดียวที่จะนำออกนอกราชอาณาจักร จึงถือว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วย กฎหมายหลายบทและไม่อาจแยกเป็นกระทงหนึ่งต่างหากได้ เมื่อจำเลยถูกลงโทษแล้ว ก็ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 9(4) ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกับพวกนำน้ำมันเบนซิน 18 ปี ราคา864 บาทออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากรและรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองจังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย

จำเลยปฏิเสธข้อหาโจทก์

ศาลจังหวัดนครพนมพิจารณาแล้วฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักย้ายน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยได้ถูกศาลลงโทษไปแล้ว แต่ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ ของกลางคืนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยถึงขั้นพยายามเอาน้ำมันออกไปนอกประเทศไทยไม่ได้รับอนุญาตและศาลอาจลงโทษได้เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกันซึ่งโจทก์อาจจะแยกฟ้องจำเลยตามความผิดแต่ละกระทงได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 31 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ให้ปรับ 4 เท่าราคาของน้ำมันเป็นเงิน 3,456 บาท แต่จำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี ให้ลดมาตราส่วนลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 58 ทวิ 1 ใน 3 คงปรับจำเลย 2,304 บาท ถ้าไม่เสียจัดการตามกฎหมายอาญา มาตรา 18 น้ำมันของกลางริบกับให้จ่ายเงินรางวัลผู้นำจับร้อยละ 25 และสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละ30 ของค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 8 ด้วย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วถึงหากจะฟังเป็นยุติดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยถึงขั้นพยายามนำน้ำมันเบนซินออกนอกราชอาณาจักรเพื่อข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งประเทศลาวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยกเป็นประเด็นต่อสู้ว่าน้ำมันรายเดียวกันนี้จำเลยได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษเสร็จเด็ดขาดไปแล้วจำเลยไม่ควรถูกลงโทษอีกดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงโดยตลอดว่ารูปคดีเป็นเช่นไร และจะพึงแยกออกเป็นกรรมหนึ่งต่างหากได้หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยได้ยักย้ายน้ำมันเบนซินรายนี้ 20 ปีบจากตลาดอำเภอธาตุพนมมายังบ้านกลางน้อย บ้านกลางใหญ่ จำเลยกับพวกซึ่งคอยดักอยู่ก็เรียกรถยนต์ให้หยุดรับเอาน้ำมันทั้งหมดลงจากรถยนต์แล้วขนต่อไปยังริมแม่น้ำโขงช่วยกันนำลงเรือชะล่า ตำรวจตามไปทันจำเลยกับพวกวิ่งหนี ส่วนเรือชะล่าซึ่งมีน้ำมันอยู่ 4 ปีบก็ถอยออกจากฝั่งราชอาณาจักรไทยข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศลาว พฤติการณ์ดังนี้จึงเห็นได้ว่าการกระทำทั้งหลายของจำเลยตั้งแต่เริ่มยักย้ายน้ำมันจากตลาดอำเภอธาตุพนมนั้นก็ด้วยเจตนาอันเดียวที่จะนำออกนอกราชอาณาจักร แต่โดยที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดนครพนมได้ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดยักย้ายน้ำมันเบนซินทางบกในเขตจังหวัดนครพนมเกินกว่าครั้งละ 190 ลิตรขึ้นไปโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากประธานกรรมการหรือผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้า ฯ พ.ศ. 2490 พนักงานอัยการจึงแยกฟ้องจำเลยในวันเดียวกันเป็นสองสำนวนคือคดีดำที่ 715/2498 ฐานยักย้ายน้ำมันเบนซินไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำน้ำมันเบนซินออกนอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยปฏิเสธอันที่จริงปรากฏอยู่แล้วว่าเป็นน้ำมันเบนซินรายเดียว ควรที่จะได้ฟ้องหรือพิจารณารวมกันโดยแท้ เพื่อให้ศาลชี้ขาดว่าการกระทำของจำเลยต่างกรรมต่างวาระหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลถือว่าเป็นกรรมเดียวกันก็จะได้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายบทหนัก แต่โจทก์ไม่ได้ร้องขอเช่นนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะทำการยักย้ายน้ำมันเบนซินออกนอกประเทศ จึงไม่อาจแยกเป็นกระทงหนึ่งได้ต่างหาก ความผิดของจำเลยต้องด้วยกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยถูกลงโทษแล้วเพราะการกระทำผิดนั้น สำหรับคดีนี้ก็ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป

Share