คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7706/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ม. เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่งและต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้รับการยกให้เป็นการที่เจ้ามรดกโอนไปซึ่งการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่ได้รับโอนการครอบครองมาจากเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อ ม. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ม. ที่จะตกทอดแก่ทายาท การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของ ม. โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของ ม. ฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกได้ เมื่อโจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของเช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นได้โอนขายที่ดินมรดกของนายมีตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1879 ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 36 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต ไม่ได้แจ้งและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนายมี ถือว่าจำเลยที่ 1 ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และปกปิดการโอนขายทรัพย์มรดกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกของเจ้ามรดก กับเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมีตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมีได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1879 ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 150,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมีบิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่จากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ในระหว่างมีชีวิตอยู่นายมีเจ้ามรดกได้ยกที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1878 ตั้งอยู่ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่ง หลังจากได้รับการยกให้แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสองส่วนมีคันนาเป็นแนวแบ่งเขต โจทก์ครอบครองที่ดินทางด้านทิศใต้ ส่วนจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทางทิศเหนือ เห็นว่า ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นายมีเจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้ามรดกจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่งและต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้รับการยกให้ เป็นการที่เจ้ามรดกโอนไปซึ่งการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่ได้รับโอนการครอบครองจากเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อนายมีถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายมีที่จะตกทอดแก่ทายาท การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของนายมี โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของนายมีฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกได้ คดีนี้โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

Share